รัฐบาลไต้หวันยังยืนยันที่จะฉีดวัคซีนของตะวันตก ปฏิเสธวัคซีนจีน คำถามคืออะไรเป็นเหตุผลของนโยบายเหล่านี้ หลักคิดเช่นว่านี้ถูกผิดอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่
แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์พลิกผัน ไต้หวันเริ่มระบาดหนัก รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ กรุงไทเปเหมือนเมืองร้าง ตามมาด้วยกระแสคนไต้หวันต้องการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพราะทุกประเทศล้วนรู้ดีกว่าวัคซีนคือคำตอบ อย่างน้อยป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไป
ปัญหาคือไต้หวันไม่ใช่ประเทศ ไม่ใช่สมาชิกองค์การสหประชาชาติ การจะติดต่อกับประเทศใดทำได้ไม่เต็มที่ ดีที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นลูกพี่ใหญ่ คอยสนับสนุนค้ำจุนเรื่อยมา ลูกพี่ใหญ่กับยุโรปตะวันตกเป็นเจ้าของวัคซีนหลายยี่ห้อ น่าจะแบ่งให้มาไต้หวันบ้าง
แน่นอนไต้หวันได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่งแล้วแต่น้อยกว่าที่ต้องการ
เรื่องนี้จะโทษรัฐบาลไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะตอนนี้วัคซีนขาดแคลนทั่วโลก มีข่าวว่าบางยี่ห้อสั่งจองเต็มไปถึงปีหน้าโน่นแล้ว (2023) ไต้หวันมีเงินแต่เงินอย่างเดียวไม่สามารถบันดาลได้ทุกสิ่ง ประเทศที่รวยกว่ากล้าจ่ายมากกว่าไต้หวันก็มี
ถ้าวิเคราะห์ตามหลักสาธารณสุข การกระจายวัคซีนที่ถูกต้องคือต้องแบ่งๆ กันไป กระจายให้ทั่วๆ แต่ความต้องการนั้นแรงกว่าหลักการ ความต้องการของคนที่กลัวตายกับคนที่อยากใช้ชีวิตเต็มที่นั้นแรงกล้ามาก วัคซีนที่ได้จึงไม่พอกับความต้องการของคนไต้หวัน 23 ล้านคน
ในยามที่ไต้หวันหาซื้อวัคซีนไม่ได้ มีข่าวว่าต้นเหตุเป็นเพราะจีนกีดกันไม่ให้ผู้ผลิตขายวัคซีนแก่ไต้หวัน
เมื่อสัปดาห์ก่อน ญี่ปุ่นกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวบริจาควัคซีน AstraZeneca 1.24 ล้านโดสแก่ไต้หวัน ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นกำลังระบาดหนักเช่นกัน (และรุนแรงกว่าถ้ามองจากยอดติดเชื้อรายวัน ยอดสะสม ระบาดต่อเนื่องนานกว่า) น่าคิดใช่ไหมในยามวิกฤตรัฐบาลญี่ปุ่นยอมเฉือนเนื้อแบ่งวัคซีนให้ ช่วยรัฐบาลไช่อิงเหวินพอยื่นหน้าออกไปได้บ้าง
ถ้ามองในแง่การเมืองระหว่างประเทศ อาจตีความได้ว่าแทนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นผู้มอบให้ ญี่ปุ่นกลับเป็นผู้มอบให้เสียเอง เป็นโอกาสทองปรับความสัมพันธ์ที่ครั้งหนึ่งไต้หวันเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นอยู่เต็มเกาะไต้หวัน เด็กนักเรียนที่นี่ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น คนไต้หวันบางส่วนมีประสบการณ์ด้านลบต่อญี่ปุ่น
และที่สำคัญพอกันในยามนี้คือช่วยกันต้านจีน (มีปรปักษ์ร่วมกันอยู่แล้ว)
วัคซีนจีน :
ในอีกฝากหนึ่ง ตั้งแต่โควิด-19 ที่ไต้หวันระบาดหนัก ทางการจีนไม่รอช้ายื่นไมตรีพร้อมส่งมอบวัคซีน MADE IN CHINA แก่ไต้หวันหลายล้านโดส จะมองว่าเป็นกลยุทธ์ทางการทูตก็ได้ เป็นวิธีทำให้คนไต้หวันเห็นว่าผูกมิตรกับจีนมีประโยชน์ จีนไม่เคืองแค้นเรื่องอดีตพร้อมให้ความช่วยเหลือ ถ้าไต้หวันไม่คิดมากจะรับความช่วยเหลือย่อมได้ เพราะรัฐบาลจีนบริจาค Sinopham กับ Sinovac ช่วยหลายสิบประเทศทั่วโลก ถ้าเพิ่มไต้หวันอีกสักชื่อไม่น่าจะแปลก
แต่ที่ผ่านสังคมไต้หวันเหมือนหลายประเทศที่ “ด้อยค่า” วัคซีนจีน พยายามหาช่องชี้ว่าวัคซีนจีนไม่ดี มีปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ แม้ตอนนี้ WHO รับรองทั้ง Sinopham กับ Sinovac แล้ว
มาถึงบรรทัดนี้ต้องย้ำอีกครั้งว่า “วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่ฉีดวันนี้” เพราะได้รับการป้องกันทันที วัคซีนบางยี่ห้อที่อาจดีกว่านิดหน่อยในวันนี้อาจเป็นวัคซีนที่ “แย่กว่า” ในวันพรุ่งนี้ เพราะไวรัสกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ไม่มีใครตอบได้ว่าวัคซีนยี่ห้อไหนใช้ได้ดีกว่า (จนกว่าจะมีผลการทดลอง)
แน่นอนว่าการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อไหนล้วนมีโอกาสเจออาการข้างเคียงและอาจตาย แต่โอกาสที่จะป่วยหนักหรือตายเพราะวัคซีนมีน้อยมาก ถ้าคิดอย่างมีเหตุผลมีตรรกะจะได้ข้อสรุปว่า “วัคซีนทุกยี่ห้อใช้ได้”
ทางสองแพร่ของรัฐบาลไต้หวัน ชีวิตหรือการเมือง :
หันกลับมาที่ไต้หวัน อันที่จริงแล้วถ้ารัฐบาลไต้หวันใช้หลักประชาธิปไตย ให้วัคซีนจีนเป็น “วัคซีนทางเลือก” ให้คนไต้หวันเลือกเองว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด เช่นนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี
มาถึงบรรทัดนี้ชวนให้คิดถึงคนฮ่องกงบางส่วนที่พวกเขา “ไม่ยอมฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อ” ไม่ว่าจะ Pfizer หรือ Sinovac ที่ผู้บริหารฮ่องกงให้เลือกอย่างใจกว้าง (แทนการใช้วัคซีนจีนอย่างเดียว) แต่ต้องยอมรับว่าคนฮ่องกงที่ไม่ฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อเป็นพวกมีอุดมการณ์จริง พวกเขาไม่ฉีดไม่ใช่เพราะวัคซีนดีหรือไม่ดี แต่เลือกไม่ฉีดเพื่อต่อต้านนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจฮ่องกงของรัฐบาลจีน
คนฮ่องกงกำลังใช้สิทธิเสรีภาพ หลายคนเลือกที่จะเสี่ยงป่วยแต่ไม่ยอมก้มหัวให้รัฐบาลจีน ... แต่ประเด็นคือการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าแค่ป้องกันป่วยหนัก เพราะในอนาคตหลายที่หลายประเทศจะต้อนรับแต่คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ... ประเทศเหล่านี้ พวกเขาเหล่านี้ใช้สิทธิของเขาเช่นกัน สิทธิที่จะไม่ต้อนรับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
ถ้ารัฐบาลไต้หวันยังยืนยันใช้แต่ยี่ห้อตะวันตกก็ต้องรอต่อไป (ต้องรออีกนานกว่าจะฉีดครบเพราะมีตัวเลือกน้อย ผู้ผลิตวัคซีนต้องกระจายหลายประเทศ จะให้แต่ไต้หวันย่อมไม่ได้)
คงไม่เกินไปถ้าจะตั้งคำถามว่า “การฉีดวัคซีนช้าวันหนึ่งทำให้คนไต้หวันล้มป่วยเพิ่มอีกวันใช่หรือไม่ เศรษฐกิจเดินหน้าช้าลงใช่หรือไม่” เป็นคำถามที่รัฐบาลไต้หวัน พลเมืองไต้หวันต้องช่วยกันตอบว่าจะเลือกอะไร การมัวแต่โทษผู้ผลิต โทษประเทศนั้นประเทศนี้ที่กีดกันไม่ช่วยฆ่าไวรัส
“ใครหนอ” หรือ “อะไรหนอ” เป็นต้นเหตุให้ฉีดวัคซีนล่าช้า
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะหายเอง เป็นเหตุให้บางคนไม่ตระหนัก อินเดียในขณะนี้เป็นตัวอย่างเมื่อระบบสาธารณสุขล่ม เพราะไม่เข้าใจไม่ตระหนักความร้ายแรงของโรคระบาด
1. China urges Taiwanese to get Covid-19 shots on mainland as island struggles with coronavirus spike. (2021, June 11). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/526275-china-taiwan-covid-vaccine/
2. Hong Kong could soon bin millions of unused vaccine doses. (2021, May 25). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/692270/Hong-Kong-could-soon-bin-millions-of-unused-vaccin
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น