สหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
มีฐานะทางเศรษฐกิจดี แต่อัตรามรณะไม่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ที่มีลักษณะคล้ายกัน หลายคนสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก คิดสั้นและฆ่าตัวตาย
บรรณานุกรม :
Thomas Kinto
นักวิจัยสหรัฐให้ความสำคัญกับความเป็นไปของคนอเมริกันว่าอะไรส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา
มีงานวิจัยมากมาย บ้างสอดคล้องกัน บ้างขัดแย้งกัน บ้างได้คำตอบบางเรื่อง บ้างเกิดคำถามใหม่ๆ
ตามมา
งานวิจัย The
Geography of Desperation in America: Labor Force Participation, Mobility
Trends, Place, and Well-being ของ Carol Graham กับ Sergio Pinto จาก Brookings Institution ที่ตีพิมพ์เมื่อตุลาคมพยายามค้นหาคำตอบเรื่องคนตายก่อนวัยเพราะสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก
(despair)
สถิติที่น่าตกใจคือในช่วงปี
2006-2015 คนอเมริกันฆ่าตัวตายถึง 1 ล้านคน (เฉลี่ยปีละ 1 แสนราย) เพราะสิ้นหวัง ติดยาหรือเสียชีวิตเพราะแอลกอฮอล์
ประเด็นนี้ถูกผูกโยงกับการพัฒนาประเทศ เป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่าแม้ดัชนีตลาดหุ้นจะพุ่งทะยานดีที่สุดในรอบ
10 ปี อัตราว่างงานต่ำมาก สหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีฐานะทางเศรษฐกิจดี
แต่อัตรามรณะไม่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น
ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สวีเดน
สหรัฐกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ชีวิตคนไม่ยืนยาวขึ้น
ทั้งๆ ที่มีความเจริญมากมาย หลายคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากซึ่งป้องกันได้
ที่น่าสนใจคือ
คนผิวสี (ผิวดำ) กับพวกฮิสปานิก (Hispanics) ที่มักเริ่มต้นชีวิตด้วยสภาพแวดล้อมไม่สู้ดีแต่คุณภาพชีวิตของพวกกำลังดีขึ้นตามลำดับ
มักไม่เสียชีวิตเพราะหมดอาลัยตายอยาก ฆ่าตัวตายน้อยกว่าพวกผิวขาว สูบบุหรี่น้อยกว่า
ออกกำลังกายมากกว่า โดยเฉพาะพวกที่คิดว่าอนาคตยังมีความหวัง
กลุ่มที่มีปัญหาหมดอาลัยตายอยากมากที่สุดคือกรรมกรชายผิวขาววัยกลางคน เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม
เคยมีหน้าที่การงานมั่นคงแต่ปัจจุบันไม่มีงานทำ การตกงานกลายเป็นต้นเหตุปัญหาชีวิต
การตกงานสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ
การปิดโรงงาน ย้ายฐานการผลิต เพราะสู้ต้นทุนการผลิตในต่างประเทศไม่ได้
ในแง่ปัญหาภาพรวม ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศดีแต่สังคมเหลื่อมล้ำมาก
ประชาชนไม่เชื่อถือรัฐบาล การเมืองแบ่งขั้วรุนแรง ความแตกแยกทางการเมือง
ปัญหาหาทางการเมืองมีผลต่อความสุขของประชาชนอย่างชัดเจน บางคนเครียดจัดเพราะสภาพการเมืองที่เป็นอยู่
เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประเทศกำลังมีปัญหาใหญ่
คนเมืองมักมีฐานะเศรษฐกิจ
มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนชนบท แต่ความเหลื่อมล้ำจะสูงมากในกลุ่มคนผิวขาว คนเมืองใหญ่กับเมืองติดชายทะเลจะมีความรู้สึกว่าตนมีความหวังมากกว่าคนชนบท
แต่จะมีความเครียดวิตกกังวลมากด้วย ทั้งนี้เพราะมีความคาดหวังสูงกว่า ในทางกลับกันคนชนบทมองอนาคตในทางลบแต่ไม่ค่อยวิตกกังวล
ผู้มองโลกแง่ดีและไม่ค่อยกังวลมักจะมีอายุยืนยาวกว่า
คิดสั้นฆ่าตัวตายน้อยกว่า คนแอฟริกันอเมริกันใช้ชีวิตอย่างมีความหวังมากกว่าคนผิวขาวอเมริกันถึง
3 เท่า แม้ว่าคนแอฟริกันอเมริกันมีฐานะยากจนกว่า ดังนั้นลำพังฐานะเศรษฐกิจไม่สัมพันธ์กับการคิดว่าตนดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า
พวกเขาอาจใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบแต่มีความหวังใจในอนาคต
ผิดกับพวกผิวขาวที่อาจมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าแต่ไร้ซึ่งความหวัง
(สังคมอเมริกันแอฟริกันเป็นครอบครัวใหญ่
ความสัมพันธ์เครือญาติเหนียวแน่น ต่างกับพวกครอบครัวเดี่ยวที่อยู่ร่วมกันเฉพาะพ่อแม่ลูก)
สังคมแบบครอบครัวเดี่ยว
การแยกตัวเองออกจากสังคมหลังตกงานเป็นอีกสาเหตุที่กระตุ้นให้หมดอาลัยตายอยากมากขึ้น
ดังนั้น
ต้นเหตุความสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากจึงมาจากปัญหาเศรษฐกิจร่วมกับปัญหาสังคมและอื่นๆ
ความหมดอาลัยตายอยากกับยาเสพติดและโอปิออยด์ :
ยาโอปิออยด์ (Opioid)
เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมอร์ฟีน
(Morphine) เป็นยาบรรเทาความเจ็บปวด แต่การใช้ผิดวิธี
ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ใช้เกินขนาด เป็นสาเหตุโดยตรงทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตราวปีละ 22,000 คน
คนที่หมดอาลัยตายอยากมักเข้าหายาเสพติด
ติดยาโอปิออยด์ด้วยหลายสาเหตุ รวมทั้งกลายเป็นพวกขี้เหล้า เป็นที่มาว่านักวิจัยเชื่อมโยงเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน
แนวทางแก้ไขที่ทำได้ทันทีคือลดการใช้ยาโอปิออยด์
ส่งเสริมหน่วยงานป้องกันคนฆ่าตัวตายที่ตอนนี้ได้รับงบประมาณจำกัด
แก้รากปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีงานทำ
ปัญหาครอบครัว ปัญหาชุมนุม เพิ่มการดูแลรักษาพยาบาลจากภาครัฐที่ยังน้อยเกินไป
เหล่านี้เป็นประเด็นเดิมๆ ที่นับวันจะเลวร้ายลง มีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่จะเผชิญปัญหามากขึ้น
ความสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากสามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติ
เช่น ให้ผู้ป่วยทำงานอาสาสมัคร เข้าหาศิลปะ ใช้เวลากับต้นไม้ใบหญ้า
มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
มีความจริงที่น่าสนใจว่าในหมู่สังคมแบบอเมริกันแอฟริกัน
การไปโบสถ์ มีส่วนช่วยให้คนอายุยืน ช่วยให้คนใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย
เห็นว่าชีวิตตนมีคุณค่า ลดปัญหาหมดอาลัยตายอยาก คนที่มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งหากรู้จักเข้าหาโบสถ์จะเผชิญหน้าปัญหาได้ดี
ตรงข้ามกับพวกที่เจอปัญหาแล้วแยกตัวอยู่คนเดียวซึ่งมีแต่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
งานวิจัยของ Brookings Institution ชิ้นนี้แนะว่าการแก้ปัญหาไม่อาจลุล่วงได้ด้วยการแก้เพียงด้านใดหน้าหนึ่ง
ต้องอาศัยทุกด้านทุกมิติประกอบกันจึงจะสำเร็จ
ภาพที่ขัดกัน :
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ
Carol Graham กับ Sergio Pinto พยายามศึกษาเจาะลึกต่อยอดจากงานวิจัยอื่นๆ
ข้อสรุปที่ชัดเจนมีข้อเดียวคือ
ชายวัยกลางคนอเมริกันผิวขาวผู้ว่างงานเป็นกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย
เนื่องจากหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เป็นการตายก่อนวัยที่ป้องกันได้
น่าชื่นชมที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามดำเนินนโยบายเพิ่มการจ้างงานในประเทศ
เช่น ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง กดดันนักธุรกิจนักลงทุนอเมริกันให้กลับมาลงทุนในประเทศ
อัตราว่างงานประจำเดือนกันยายนลดลงเหลือ 3.5 เปอร์เซ็นต์
เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี
การจ้างงานใหม่เกิดขึ้นทุกเดือนแม้มีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย แต่ต้องติดตามว่าเป็นนโยบายที่เกิดผลดีจริงในระยะยาวหรือไม่
เมื่อศึกษางานวิจัยจำนวนมากจะพบว่าสหรัฐอเมริกาเต็มด้วยภาพที่ขัดแย้งกัน เช่น พยายามแสดงตัวเป็นผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย ส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ
เป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาประชาธิปไตยในประเทศตัวเองกำลังบั่นทอนชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกันอย่างชัดเจน
ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวบอกว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี
แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงและกำลังเพิ่มมากขึ้นจนทุกคนไม่อาจปฏิเสธว่าเป็นปัญหา
มีระบบสาธารณสุขดีกว่าหลายประเทศ เป็นประเทศที่คิดค้นยาใหม่มากมายแต่อายุขัยประชากรไม่เพิ่มขึ้น
คนเป็นโรคมากขึ้น ได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วแต่คนจำนวนมากมีชีวิตบนความวิตกจริต
ติดยา บางคนถึงขั้นหมดอาลัยตายอยากและลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย
เหล่านี้เป็นเรื่องน่าคิดว่าสหรัฐกำลังพัฒนาประเทศอย่างถูกทิศถูกทางหรือไม่
บทความนี้นำเสนองานวิจัยที่พูดถึงสหรัฐ
หากมองในภาพกว้างคงมีอีกหลายประเทศที่มีปัญหาคนสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก ประเทศที่มีผู้ติดยาเสพติดจำนวนมากน่าจะเป็นตัวบ่งชี้
และไม่ว่าสุดท้ายจะนำสู่การฆ่าตัวตายหรือไม่ ผลกระทบต่อการเมืองเศรษฐกิจสังคมมีแน่นอน
27 ตุลาคม
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8386 วันอาทิตย์ที่ 27
ตุลาคม พ.ศ.2562)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โรคซึมเศร้าจำต้องได้รับการรักษาทางแพทย์ การป้องกันไว้ก่อนดีกว่ารอป่วยค่อยรักษา
ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการซึมเศร้าที่นับวันจะเป็นกันมากขึ้น
สะท้อนสังคมที่กำลังป่วยทางจิตและต้องรีบเร่งแก้ไข
(Certain American men are dying 'deaths of despair'. (2019,
October 22). Yahoo. Retrieved from https://finance.yahoo.com/news/deaths-of-despair-why-this-group-of-americans-has-higher-mortality-rates-130633528.html)
(Graham, Carol. (2019, October 15). Understanding the role
of despair in America’s opioid crisis. Retrieved from https://www.brookings.edu/policy2020/votervital/how-can-policy-address-the-opioid-crisis-and-despair-in-america/)
(Graham, Carol., Pinto, Sergio. (2019, October). The
Geography of Desperation in America: Labor Force Participation, Mobility
Trends, Place, and Well-being. Retrieved from https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2019/10/Session-6-Happiness-Paper-The-Geography-of-Desperation-in-America.pdf)
(US unemployment rate hits a 50-year low even as hiring
slows. (2019, October 4). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/ada1698cbb54448b90f52d6a827019f2)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น