ทุกวันนี้คนนับพันล้านยอมรับและใช้สมาร์ทโฟน
โซเชียลมีเดีย ในอนาคตการฝังไมโครชิปในร่างกายน่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นกัน
ด้วยประโยชน์ของผู้ใช้ ผู้ให้บริการและผู้ควบคุมระบบ
บรรณานุกรม :
Sharon McCutcheon
ปี
2018 ชาวสวีเดนกว่า 4,000 คนสมัครใจฝังไมโครชิปในร่างกายตัวเอง
โดยฝังไว้ที่ชั้นใต้ผิวหนังของมือ ชิปดังกล่าวบรรจุข้อมูลอัตลักษณ์ของเขา
(เหมือนบัตรประชาชน) ด้วยชิปนี้พวกเขาไม่ต้องถือเงินสดอีกต่อไป
สามารถซื้อสินค้าบริการต่างๆ ด้วยการมีชิปเล็กๆ ขนาดเท่าเม็ดข้าว
การใช้งานแสนง่ายดายเพียงแค่โบกมือหรือสแกนมือผ่านเครื่องจะปรากฏลิงก์ที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว
จากนั้นจะเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางเพื่อประมวลผลว่าทำอะไรได้บ้าง เช่น
ซื้อสินค้าได้กี่บาท ใช้แทนกุญแจเปิดประตูต่างๆ
อาสาสมัครเหล่านี้เห็นว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขา ให้ความสำคัญเรื่องความสะดวกสบายมากกว่าการรักษาความเป็นส่วนตัว
ทุกวันนี้บริษัทเอกชนหลายแห่งในสวีเดนพร้อมให้บริการฝังไมโครชิปฟรี
เพื่อความปลอดภัยในการเข้าสู่อาคาร ห้องต่างๆ และใช้ชำระเงินซื้อสิ่งต่างๆ
ในโรงอาหาร
การฝังไมโครชิปจากข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศนี้
ก่อนหน้านี้มีผู้สมัครใจฝังชิปหลายพันคนแล้ว
เหตุที่สวีเดนพัฒนาเรื่องทำนองนี้อย่างรวดเร็วเหนือประเทศอื่นๆ เพราะค่านิยมสังคมรองรับ
คนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแก่ผู้อื่น ระบบการชำเงินอิเล็กทรอนิกส์แพร่หลาย
คนส่วนใหญ่เลิกใช้ธนบัตรมานานแล้ว กฎหมายอนุญาตการฝังไมโครชิปใต้ผิวหนัง ข้อมูลส่วนตัวได้รับการปกป้องตามกฎหมาย
บรรดาประเทศที่นิยมใช้แนวทางของสังคมไร้เงินสดอื่นๆ
อาทิ E-Wallet E-Money ทำธุรกรรมการเงินผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือน่าจะส่งเสริมการฝังไมโครชิปในอนาคต
นับวันคนรุ่นใหม่จะไม่นิยมชำระค่าสินค้าบริการด้วยธนบัตร ร้านค้าบางแห่งถึงกับเอ่ยว่าการชำระด้วยธนบัตรกลายเป็นภาระ
เพราะคนใช้บริการน้อยมากแต่ยังต้องมีเจ้าหน้าที่คอยรองรับ
สวีเดนมีธนาคารทั้งหมดรวม 1,400 สาขา กว่าครึ่งไม่มีบริการรับเงินสดอีกแล้ว ผู้ใช้บริการที่จะฝากเงินด้วยธนบัตรต้องไปสาขาที่ยังให้บริการเท่านั้น
และเมื่อคนใช้ตู้ ATM น้อย
การติดตั้งตู้จึงกลายเป็นภาระ ไม่คุ้มค่า
กรณีอย่างสวีเดนเห็นได้ชัดว่านับวันธนบัตร
เหรียญกำลังจะหายไปจากตลาด
คริสตีน ลาการ์ด (Christine
Lagarde) ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าธนาคารแห่งชาติหลายประเทศกำลังพิจารณาเงินดิจิทัล
(digital currencies) อย่างเคร่งเครียด
สังคมไร้เงินสดสัมพันธ์กับเงินดิจิทัลโดยตรง
ไม่ช้าไม่นานเงินดิจิทัลจะกลายเป็นระบบเงินที่ใช้แพร่หลาย
สังคมไร้เงินสด เงินดิจิทัล และไมโครชิปที่ฝังในร่างกายทั้งหมดสัมพันธ์กัน
ไม่เพียงที่สวีเดน เมื่อปี 2017 บริษัท Three Square Market (32M) ในรัฐวิสคอนซินเผยว่าตนเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของสหรัฐที่ฝังไมโครชิปในพนักงานของตน
ชิปดังกล่าวทำหน้าที่เปิดประตูห้องทำงาน เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงาน ซื้ออาหารของร้านค้าในบริษัท
อย่างไรก็ตามชิปดังกล่าวไม่มีระบบติดตามการเคลื่อนไหว (GPS)
ชิปนี้ราคาชิ้นละ 300 ดอลลาร์ฝังชั้นใต้ผิวหนังระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้
เพียงแค่โบกมือไปมา ระบบก็จะทำงาน
เหล่านี้เป็นตัวอย่างบริษัทเอกชนส่วนหนึ่งที่ฝังชิปกับพนักงานลูกจ้างของเขา
BioTeq
เป็นบริษัทเอกชนรายแรกของอังกฤษที่พัฒนาไมโครชิปที่สามารถเปิดประตูรถยนต์
ประตูบ้านเพียงแค่เจ้าของโบกมือ ขายในราคา 300 ปอนด์ต่อ 1 ประตู
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัว
เพื่อประโยชน์ด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ลดภาระของพยาบาล การดูแลผู้ป่วยด้วยบุคลากร
ไมโครชิปนี้มีบริการแก่ประชาชนทั่วไป
กลุ่มที่สนับสนุนจะกล่าวว่าการฝังชิปไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเพราะเหมือนกับไปฉีดวัคซีน
ทนปวดไม่กี่วันก็หาย
การฝังไมโครชิปในความเข้าใจแบบต่างๆ :
การฝังไมโครชิปในร่างกายมนุษย์มีทั้งคุณและโทษ ใช้ประโยชน์เรื่องการดูแลสุขภาพ
ความมั่นคงปลอดภัยและด้านการเงิน แต่เคยมีประวัติว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง มีผลต่อยีน
สูญเสียความเป็นส่วนตัว กระตุ้นแนวคิดคัดเลือกแต่คนสายพันธุ์ดี (eugenics
movement)
มีทั้งคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย
ขึ้นกับว่าให้น้ำหนักเรื่องใด
อีกคำถามสำคัญคือสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่
เรื่องที่ควรเข้าใจคือการฝังไมโครชิปยังเป็นของใหม่อยู่ระหว่างการทดลอง แม้การทดลองแรกๆ
ย้อนหลังได้อย่างน้อย 3-4 ทศวรรษ เจ้าของโครงการมีทั้งเอกชนกับหน่วยงานรัฐ
บางคนอาจนึกถึงการฝังไมโครชิปในแง่ใช้ประโยชน์ตามยุคสังคมไร้เงินสด
(cashless society) เพียงแค่ฝังชิพเท่ากับมีกระเป๋าเงินอยู่ใน
“ร่างกาย” ทั้งสะดวกและน่าจะปลอดภัยจากโจรขโมย
แท้จริงแล้ว
เทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้ในทางอื่นๆ อีกมาก
มีการทดลองถึงขั้นที่ตัวชิปเชื่อมต่อกับเซล
อวัยวะ แม้กระทั้งระดับ DNA เพื่อเข้าถึง เชื่อมต่อกับส่วนของร่างกายมนุษย์
จะพูดว่าไมโครชิปเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของร่างกายก็ได้
การทดลองดำเนินต่อไป
ในอนาคตร่างกายคนเราอาจมีชิปไม่เพียง 1 ชิ้น แต่มีหลายชิ้นหลายแบบขึ้นกับความต้องการและความจำเป็น
ทำหน้าที่หลากหลาย อาจเรียกว่าเป็นมนุษย์ชิปก็ได้
บางคนอาจนึกว่าการฝังชิปเพื่อเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์คือการที่เราเป็นผู้
“ควบคุม” ความจริงแล้วการไหลของข้อมูลจำต้องผ่าน “ระบบ“ คอมพิวเตอร์ส่วนกลาง
ผ่านระบบการไหลของข้อมูลซึ่งจะมีผู้ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล
หรือหลายฝ่ายร่วมกัน
การฝังชิปอีกแบบคือเพื่อควบคุมมนุษย์โดยตรง
เช่น ฝังชิปในตัวนักโทษเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว รู้ตำแหน่งว่าอยู่ที่ใด
บริษัทอเมริกันแห่งหนึ่งจดสิทธิบัตรชิปดังกล่าวตั้งแต่ปี 1999 (สมาร์ทโฟนที่ใช้กันทั่วไปคืออีกอุปกรณ์ที่สามารถจับตำแหน่งบุคคล)
การฝังชิปในร่างกายยากที่จะนำชิปออก
ในอนาคตบัตรประจำตัวประชาชนอาจเป็นชิปตัวหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย
ทุกคนจะถูกฝังตามวัย ฯลฯ นักเรียนเมื่อเข้าห้องหรือทำกิจกรรมจะต้องสแกนชิปก่อน ใครที่โดดเรียนจะถูกจับได้ทันที
คนเข้างานตอกบัตรด้วยการสแกนชิปเช่นกัน
เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฝังชิปน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงานและความมั่นคงประเทศ
ประชาชนแต่ละคนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐหรือไม่ก็ด้วยข้อมูลที่บรรจุอยู่ในไมโครชิฟ
(หรือจากสัญญาณที่เชื่อมต่อกับตัวชิป)
ทุกคนสามารถเดินทางไปทั่วโลกโดยไม่ต้องมีวีซ่าหรือหนังสือเดินทางอีกต่อไป
ไม่ต้องกลัวเอกสารหาย เพราะข้อมูลทุกอย่างฝังอยู่ในชิปแล้ว
ชิปจะเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางเข้าถึงข้อมูลสุขภาพทั้งหมด
ทั้งยังคอยตรวจตราสุขภาพ แจ้งเตือนให้ไปสถานพยาบาล เตือนว่ากินยาตรงเวลาหรือไม่
น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นหรือลดลง พร้อมส่งสัญญาณไปถึงสถานพยาบาลที่กำหนด
ระบบจะเก็บข้อมูลสุขภาพทุกวันพร้อมกับประมวลข้อมูลสุขภาพทำวัน สามารถบอกว่ากำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายหรือไม่
ฯลฯ เฉพาะที่สหรัฐชิปประเภทนี้มีการใช้นับล้านชิ้นแล้ว ได้รับการรับรองจาก FDA สหรัฐอเมริกา
ใครที่อยู่ระหว่างการบังคับของกฎหมาย
เช่น ห้ามขับรถ 30 วันก็จะขึ้นกับอยู่ชิปนี้ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าอาจใช้ชิปนี้เพื่อการลงโทษ เช่น ทำให้ฝันร้าย
ซึมเศร้า มีปัญหาทางสายตา แม้กระทั่งกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง
อีกการทดลองที่พยายามทำแล้วหลายทศวรรษคือการควบคุมความคิดมนุษย์
ให้ลดการต่อต้านรัฐบาล แนวคิดนี้เคยพยายามทำด้วยหลายเทคโนโลยี
ไมโครชิปที่ฝังในร่างกายมนุษย์คืออีกแนวทางที่อยู่ระหว่างการทดลอง
การสู้กันในชั้นกฎหมายและอื่นๆ :
การฝังชิปอาจทำโดยสมัครใจ
ดังเช่นการใช้ในสวีเดน บริษัทบางแห่ง ไมโครชิปที่เป็นของรัฐต้องมีกฎหมายรองรับ
(เช่น ชิปบัตรประจำตัวประชาชน) เป็นประเด็นถกเถียงว่าการฝังชิปนั้นสมควรหรือไม่
หากว่าชิปเป็นต้นเหตุให้เจ็บป่วย
(มีข้อมูลว่าชิปรุ่นแรกๆ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง) ใครเป็นผู้รับผิดชอบและรับผิดชอบอย่างไร
ประเด็นข้อกฎหมายจะเป็นเรื่องระดับโลก
ถกเถียงกันในระดับโลก เพราะไมโครชิปที่ฝังในร่างกายมนุษย์มีผลต่อความเป็นไปของโลก
ปัญหาความปลอดภัยเป็นอีกประเด็นที่กำลังถกกันมาก
เกรงการรั่วไหลของข้อมูลไม่เพียงที่ตัวชิปเท่านั้นแต่เกิดขึ้นได้ทุกจุด ดังที่มีข่าวเป็นระยะๆ
ว่าระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัทระดับโลกที่น่าจะมีความปลอดภัยสูงยังโดนเจาะเข้าระบบ
ข้อมูลลับลูกค้าถูกขโมยนับหมื่นนับแสนราย
การพัฒนาและการถกเถียงยังดำเนินต่อไป มีแนวโน้มว่าคนจะยอมรับมากขึ้น
ไม่ว่าจะด้วยความยินยอมพร้อมใจ จำยอมหรือถูกบังคับ ไม่ต่างจากการใช้บัตรเครดิต สมาร์ทโฟน
สื่อโซเชียลมีเดีย ที่ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกระบบเก็บและประมวลผล
การฝังไมโครชิปคือความก้าวหน้าอีกขั้นที่กำลังเกิดขึ้น ต่างกันตรงที่ระบบจะเก็บข้อมูลได้มากขึ้น
ละเอียดขึ้นและต่อเนื่องเพราะฝังติดตัวในร่างกายมนุษย์
2 ธันวาคม
2108
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8058 วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2561)
---------------------------
1. Bio Teq. (2018). Information, Resources, Research & Design. Retrieved
from https://www.bioteq.co.uk/index.php/information
2. British inventor microchips himself to get into house and
car with a wave of hand. (2017, August 3). Telegraph. Retrieved from https://www.telegraph.co.uk/science/2017/08/03/british-inventor-microchips-get-house-car-wave-hand/
3. In Sweden, cash is almost extinct and people implant
microchips in their hands to pay for things. (2018,
November 24). Financial Post. Retrieved
from https://business.financialpost.com/news/economy/swedens-push-to-get-rid-of-cash-has-some-saying-not-so-fast
4. Mason, Gena. (2009, July 23). The Microchipping of America: Human
Rights Implications of Human Bar Codes. Retrieved from
https://works.bepress.com/gena_mason/2/
5. Solon, Olivia. (2015, August 7). Pros and Cons of Wearable Technology in the Workplace. Retrieved from https://www.insurancejournal.com/news/national/2015/08/07/377825.htm
6. Tech Firm Embeds Microchips In Employees, Predicts We'll
All Have One. (2017, July 25). The
Huffington Post. Retrieved from https://www.huffingtonpost.ca/2017/07/25/tech-firm-embeds-microchips-in-employees-predicts-well-all-hav_a_23047570/
7. Thousands of Swedes are getting microchip IDs inserted
into their hands to swipe into homes, offices, concerts and even to access
social media. (2018, October 23). Daily Mail. Retrieved from https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-6306569/Thousands-Swedes-getting-microchip-IDs-inserted-hands.html
-----------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น