รัฐบาลคองโกประกาศภัยเชื้ออีโบลาระบาด พบผู้เสียชีวิตใกล้
40 รายแล้ว ข่าวดีคือองค์การอนามัยโลกให้ความช่วยเหลือใกล้ชิด มีวัคซีนป้องกันโรค
แต่เขตระบาดอยู่ในพื้นที่สงครามยากต่อการควบคุม
บทความที่เกี่ยวข้อง :
อ้างอิง :
กระทรวงสาธารณสุขประเทศคองโกแถลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบลา
(Ebola virus) เพิ่มอีก 2 ราย รวมแล้วการระบาดรอบใหม่พบผู้เสียชีวิตแล้ว
36 ราย
ล่าสุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 105 รายแล้ว แม้จะมีระบบควบคุมกักกันโรค ให้วัคซีนวันละ 400-600 ราย ที่แย่ที่สุดคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้อด้วย
ล่าสุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 105 รายแล้ว แม้จะมีระบบควบคุมกักกันโรค ให้วัคซีนวันละ 400-600 ราย ที่แย่ที่สุดคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้อด้วย
องค์การอนามัยโลกแถลงว่าสายพันธุ์ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์รุนแรงที่สุด
อัตราเสียชีวิตสูงสุด ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ดีที่เป็นสายพันธุ์เดิมที่มีวัคซีนป้องกัน
อย่างไรก็ตาม
พื้นที่ระบาดอยู่ในแถบภาคเหนือเขตไม่สงบ มีการปะทะกันด้วยอาวุธสงครามของกองกำลังต่างๆ
เป็นอีกสาเหตุที่การควบคุมโรคยากลำบากขึ้นมาก
อะไรคือโรคอีโบลา :
โรคอีโบลา
(Ebola virus disease หรือ EVD) คือ โรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลันชนิดหนึ่ง ยังไม่มียารักษา ผู้ป่วยมีอัตราเสียชีวิตสูง
ผู้ติดเชื้อจะเริ่มต้นด้วยอาการคล้ายหวัดหลายอย่าง
เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เป็นผื่น จากนั้นเริ่มอาเจียน
ท้องเสีย ช็อค และมักมีเลือดออก บางครั้งจึงเรียกโรคจากเชื้อชนิดนี้ว่า โรคไข้เลือดออกแอฟริกัน
(African Hemorrhagic Fever) ระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนถึงเสียชีวิต จะกินเวลาประมาณ 2 - 21 วัน
งานศึกษาบางชิ้นเชื่อว่าไวรัสนี้มาจากค้างคาวที่แพร่สู่ลิง
และจากลิงมาสู่คนในที่สุด จากนั้นผู้ติดเชื้อซึ่งมักจะเริ่มต้นด้วยคนเพียงหนึ่งคนจะแพร่เชื้อแก่คนอื่นๆ
ที่ได้สัมผัสใกล้ชิด จากสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น เลือด อาเจียน อุจจาระ
การมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การระบาดในมนุษย์เกือบทั้งหมดมาจากการติดต่อระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
ที่อยู่ด้วยกันใกล้ชิด เช่น ระหว่างคนไข้กับคนในโรงพยาบาล
ผู้ติดเชื้อกับคนในครอบครัว
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัสดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีป้องกันโรคและป้องกันแพร่ระบาด
ด้วยการฉีดวัคซีน คัดแยกผู้ป่วย แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน
ปัญหาใหญ่ของการแพร่ระบาดคือ มีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการชัดเจน
ผู้ติดเชื้อเหล่านี้กลายเป็นพาหะแพร่เชื้อแก่คนอื่นๆ ส่งผลให้เชื้ออีโบลาแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ
และเนื่องจากการระบาดรอบนี้เกิดในเขตพื้นที่สงคราม
การควบคุมจึงซับซ้อนยากกว่าปกติมาก
ความไม่รู้หรือความกลัวของชาวบ้านเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาด
บางกรณีไม่กล้ารายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
(ไม่ถูกแยกตัวออกจากชุมชน) จัดการฝังศพผู้ป่วยแบบผิดๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างฝังศพ
ข่าวดีคือหลายปีที่ผ่านมามีการคิดค้นวัคซีนหลายตัว
หนึ่งตัวที่ค่อนข้างจะได้รับการยอมรับว่าได้ผลคือวัคซีน rVSV-ZEBOV ผลิตโดยบริษัท Merck ไม่ว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพเพียงใด
เป็นวัคซีนเพียงชนิดเดียวที่มีใช้ในขณะนี้ และเริ่มให้วัคซีนแก่คนในพื้นที่เสี่ยงแล้ว
ประเทศคองโกและอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกามักมีการระบาดของเชื้อนี้
การระบาดรอบนี้เป็นครั้งที่ 10 ของคองโกนับตั้งแต่ค้นพบเชื้อไวรัสนี้เมื่อทศวรรษ
1970
การระบาดครั้งก่อนคือช่วงปี 2014-16 ที่ประเทศกินี (Guinea) ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone)
คร่าชีวิตทั้งหมด 11,000 ราย ในครั้งนั้นยังไม่มีวัคซีน ชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร
จึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ดีที่ปัจจุบันมีวัคซีนตัวหนึ่งแล้ว
และหวังว่าความรู้ที่สะสมจากการระบาดหลายครั้งและความก้าวหน้าทางสาธารณสุขจะช่วยให้หยุดการระบาดได้ในเร็ววัน
ปัญหามากกว่าแค่ผู้ติดเชื้อ :
4-5 ประเทศที่อีโบลาระบาดเป็นประเทศในแอฟริกาที่ยากจนอยู่แล้ว
การเกิดโรคระบาดทำให้นักท่องเที่ยวต่างแดนไม่กล้าไปเที่ยว นักลงทุนไม่คิดจะลงทุน
(มีประเทศอื่นๆ อีกมากที่ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคร้ายนี้) ในอดีตช่วงที่ระบาดหนัก
สายการบินต่างชาติปฏิเสธบินสู่ประเทศดังกล่าว เหล่านี้ซ้ำเติมให้ประเทศยากจนกว่าเดิม
ซ้ำร้ายกว่านั้น ชาวต่างชาติบางคนกังวลหนักถึงขั้นไม่กล้าซื้อสินค้า
ผลิตผลทางการเกษตร อาหารจากประเทศที่มีข่าวเชื้อแพร่ระบาด
ด้วยเกรงว่าสินค้านำเข้าเหล่านี้จะพาเชื้ออีโบลาเข้ามาด้วย
การระบาดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ
ขัดขวางไม่ให้ประเทศเหล่านี้ได้โอกาสพัฒนา
เชื้ออีโบลาจึงสร้างความเสียหายแก่ประเทศเหล่านี้มหาศาล
และมีผลต่อโลก เป็นความน่ากลัวหรือภัยที่แท้จริงนอกเหนือจากผู้คนล้มตายด้วยโรค
เป็นอีกเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
9 สิงหาคม
2018
(ปรับปรุง 25 สิงหาคม 2018)
(ปรับปรุง 25 สิงหาคม 2018)
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
---------------------
โลกรู้จักไวรัสอีโบลา หลายทศวรรษแล้ว
ช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดการระบาดครั้งใหญ่น้อยหลายรอบ แต่จนถึงทุกวันนี้
โลกยังปราศจากยา วัคซีนที่ใช้ได้ผลอย่างจริงจัง
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดการวิจัยยากับวัคซีนที่มากเพียงพอ ในภาวะเช่นนี้
การป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดคือ “แนวทางรักษา” ที่เหมาะสมที่สุด เพราะเมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
การระบาดจะยุติไปเอง
ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาทำให้สังคมโลกตีตราว่าประเทศที่มีการแพร่ระบาดกลายเป็นประเทศที่อันตรายต่อชีวิตมากที่สุด
หลายคนกลัวแม้กระทั่งไม่กล้าซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านี้
ตราบใดที่การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ประเทศเหล่านี้เหมือนประเทศที่ถูกคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจ
การค้าการลงทุนจากนานาชาติ
เป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่ประเทศซึ่งยากจนอยู่แล้วจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุ่งเรือง
1. โรคไข้เลือดออกแอฟริกัน (African Hemorrhagic
Fever). (2553, ธันวาคม 8). กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. Retrieved from http://thaigcd.ddc.moph.go.th/knowledges/view/11
2. Cicco, Camillo Di. (2010, March 19). Ebola. Science 2.0. Retrieved
from http://www.science20.com/scientist/ebola-66006
3. Ebola is spreading again in Congo — this time in an
active war zone. (2018, August 8). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/africa/ebola-is-spreading-again-in-congo--this-time-in-an-active-war-zone/2018/08/08/8997aa74-9aea-11e8-8d5e-c6c594024954_story.html?utm_term=.34195b520d5b
4. Ebola outbreak now at 105 cases, and bordering countries
are on alert. (2018, August 24). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/national/health-science/ebola-outbreak-now-at-105-cases-and-bordering-countries-are-on-alert/2018/08/24/3b7a58a2-a7c2-11e8-a656-943eefab5daf_story.html?utm_term=.140db42a449d
5. Ebola’s Back door to America. (2014, August 24). Newsweek.
6. New Ebola outbreak in Democratic Republic of Congo: 43
infected, 36 dead. (2018, August 8). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2018/08/07/world/dr-congos-health-ministry-reports-new-ebola-deaths-in-latest-outbreak/index.html
7. Questionable efficacy of the rVSV-ZEBOV Ebola vaccine. (2018, March 17). The Lancet.
Retrieved from https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(18)30560-9/fulltext
-------------------------------
ความคิดเห็น
โพสต์ความคิดเห็น