“City Carshare” คือสมาชิกใช้รถร่วมกันโดยรถที่โครงการจัดให้ ผู้ใช้เสียค่าบริการโดยคิดตามระยะทางกับชั่วโมงใช้งาน (คล้ายเช่ารถแท็กซี่ขับเอง) รถที่เลือกใช้มักเป็นพวกประหยัดเชื้อเพลิง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อเอ่ยถึงองค์กรภาคประชาชน
(NGOs) บางคนอาจคิดถึงกลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านคอร์รัปชัน บางคนอาจคิดถึงใบหน้าชาวชนบทที่นั่งประท้วงรัฐบาล
ถ้าพูดกลุ่มระดับโลก อาจนึกถึงสภากาชาด (Red Cross) แอมเนสตี้
อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) กรีนพีซ
(Greenpeace)
กลุ่มระดับชาติที่เป็นตัวอย่างน่าสรรเสริญคือ
กลุ่มเกาหลีใต้ที่ต่อสู้เพื่อหญิงบำเรอ (comfort women) การต่อสู้เพื่อหญิงเคราะห์ร้ายเหล่านี้เริ่มจากการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนจนสามารถผลักดันเป็นประเด็นระดับชาติ
กลายเป็นหัวข้อที่นักการเมืองต้องเอ่ยถึง มีนโยบายสนับสนุน
จนในที่สุดเกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในช่วงแรกรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธว่ากองทัพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดหาหญิงบำเรอโดยตรง
แต่แล้วก็ต้องยอมรับว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง
องค์กรภาคประชาชนที่มีผลงานก็มาก เป็นกำลังใจแก่กลุ่มอื่นๆ
“City Carshare” เป็นอีกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ
เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยประชาชนคนธรรมดา จุดเริ่มโครงการอยู่ในย่านอ่าวซานฟรานซิสโก
(San Francisco Bay)
บริหารโดยองค์กรภาคประชาชนที่ไม่หวังผลกำไร
แนวคิดดั้งเดิมคือสหกรณ์รถยนต์
รถที่สมาชิกสหกรณ์ร่วมกันเป็นเจ้าของ ผู้ใช้เสียค่าบริการตามปริมาณการใช้
ลักษณะโครงการ “City
Carshare” คือสมาชิกใช้รถร่วมกันโดยรถที่โครงการจัดให้ ผู้ใช้เสียค่าบริการโดยคิดตามระยะทางกับชั่วโมงใช้งาน
(คล้ายเช่ารถแท็กซี่ขับเอง) รถที่เลือกใช้มักเป็นพวกประหยัดเชื้อเพลิง
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการช่วยลดปริมาณรถบนท้องถนน
ลดการใช้น้ำมันและลดมลพิษ หลายคนเลิกใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถส่วนกลางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการให้แนวคิดว่าการมีรถส่วนตัวต้องจ่ายเงินซื้อรถก้อนโต
จะดีไหมหากเปลี่ยนเป็นการเช่ารถเมื่อต้องการ ช่วยประหยัดเงินก้อนโต สามารถเลือกใช้รถใหญ่หรือเล็กได้ตามความต้องการ
โครงการมีรถหลายประเภทไว้คอยให้บริการ
ทีมบริหาร “City
Carshare” ทุกคนมีจิตสาธารณะ บางคนเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
บางคนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ในด้านการเมืองมีความคิดเห็นหลากหลาย
แต่ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันต่อ “City Carshare”
เมื่อเริ่มโครงการมีรถเช่า
1 คัน สมาชิก 5 คนร่วมกันใช้ ไม่นานกลายเป็นรถ 5 คัน สมาชิก 50 คน
จากผู้เริ่มต้นไม่กี่คน สมาชิกมาช่วยกันทำงาน กลายเป็นการจ้างพนักงานเต็มเวลา
รถทุกคันมีประกันภัย มีโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง จากสมาชิก 850
คนกลายเป็นหลายหมื่นคนในเวลาไม่กี่ปี
ในระยะแรกคนต้องการใช้รถมีมากเหลือเฟือ
งานหลายอย่างเป็นลักษณะทำไปเรียนรู้ไป ระบบงานค่อยๆ พัฒนากลายเป็นมืออาชีพมากกว่าพวกสมัครเล่น
เรียนรู้ว่ารถแต่ละคันจะต้องมีรายได้ต่อวันต่อเดือนเท่าไรจึงจะคุ้มทุน
นับวันแผนของโครงการจะใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้นทุกที
จากโครงการที่คิดอย่างเรียบง่ายว่าคือการใช้ร่วม
สู่การพัฒนา “ผลิตภัณฑ์” ใหม่ๆ เช่น สามารถเช่ายืมระยะยาว
สมาชิกบางคนเช่ารถโครงการเพื่อเป็นรถรับส่งเหมือนแท็กซี่ แม้วิธีแตกต่างจากเดิมบ้าง
แต่คงไว้ซึ่งอุดมการณ์ดั้งเดิม จำนวนคนที่ได้ประโยชน์มีมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น
ช่วยคนมีงานทำ
เมื่อมองย้อนหลัง
ปัจจัยส่งเสริมให้โครงการประสบความสำเร็จ เริ่มจากการเข้าใจความสำคัญของรถ
ปัญหาการใช้รถในเมือง หลายคนอยากมีรถแต่รายได้ไม่พอ หลายคนใช้รถวันละเพียง 2-3
ชั่วโมงกลายเป็นความสูญเปล่า
ประเด็นเหล่านี้เป็นที่เข้าใจกันดีและเป็นปัญหากับหลายคน “City Carshare” ตอบโจทย์เหล่านั้น
คุณค่าทางสังคมเป็นอีกประเด็นที่องค์กรภาคประชาชนให้ความสำคัญ
ทุกสิ่งที่ “City Carshare” ทำจะตั้งอยู่บนหลักการช่วยให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม
ความสำเร็จของโครงการกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดองค์กรภาคประชาชนลักษณะนี้อีกหลายแห่ง
บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบกิจการใช้รถร่วมกัน บางแห่งกลายเป็นกิจการขนาดใหญ่
มีผู้ศึกษาพบว่าในช่วง
2 ปีแรกของโครงการ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เช่ารถเพียงเดือนละครั้ง
รองมาคือสัปดาห์ละครั้ง ข้อมูลนี้ชี้ว่าตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตอบโจทย์คนใช้รถน้อย วัตถุประสงค์การเช่าส่วนใหญ่คือไปร้านขายของ
รองมาคือไปทำธุระส่วนตัว ลูกค้าครึ่งหนึ่งตอบว่ามักใช้บริการซ้ำ ค่าบริการโดยเฉลี่ยถูกกว่ารถแท็กซี่และบริการรถเช่าเอกชน
ช่วยหลายคนเลื่อนการซื้อรถหรือคิดจะมีรถของตัวเอง
ปัจจุบัน “City
Carshare” กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยที่ใหญ่กว่าชื่อว่า “Getaround”
ข้อคิดที่ได้จาก “Getaround” คือปัจจุบันสหรัฐมีรถยนต์ทั้งสิ้น 250 ล้านคัน จากจำนวนประชากร 324
ล้านคน (ข้อมูลปี 2016) รถส่วนใหญ่อยู่ในสภาพจอดทิ้งไว้ คือ จอดทิ้งวันละ 22
ชั่วโมง เป็นความสิ้นเปลืองทั้งระดับบุคคลกับประเทศ จะดีกว่าไหมหากรถ 1
คันสามารถแบ่งกันใช้หลายคน ช่วยทุกคนประหยัด
“Getaround” จึงวางระบบว่าเจ้าของรถสามารถนำรถเข้าร่วมโครงการ
เพื่อให้ผู้อื่นเช่ายืมชั่วคราว
ให้เหตุผลจูงใจว่ารถส่วนใหญ่จะต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงปีละ 8,000 ดอลลาร์
หากเข้าร่วมโครงการจะมีรายได้ 800 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 9,600 ดอลลาร์ต่อปี มากกว่าค่าบำรุงที่ต้องจ่ายรายปี การมีรถร่วมใช้ 1
คันจะช่วยลดจำนวนรถได้ถึง 10 คัน รถทุกคันที่เข้าร่วมจะมีประกันภัยรถยนต์ ติดตั้ง GPS เพื่อกันขโมย
ความสำเร็จของ
“City Carshare” เป็นอีกพลังใจแก่องค์กรภาคประชาชนอื่นๆ
ที่ทำในลักษณะเดียวกันหรือเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ และเป็นประโยชน์แม้ผันตัวกลายเป็นธุรกิจเอกชน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
แรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่าย แม้กระทั่งเรื่องที่จอดรถ เอื้อประโยชน์ต่อแนวคิด “City
Carshare” ในอนาคตเมื่อรถสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติ
จะมีผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะไม่จำต้องมีความชำนาญในการขับขี่ก็สามารถใช้ได้
เมืองที่แออัดมากจนที่จอดรถกลายของหายาก บางแห่งเจ้าของรถต้องเช่าพื้นที่จอดรถรายเดือน
การใช้รถร่วมช่วยได้ อนาคตเมื่อคนทำงานกับบ้านมากขึ้น เดินทางน้อยลง
การใช้รถร่วมย่อมดีกว่าการซื้อรถแล้วจอดทิ้งไว้เฉยๆ
สร้างชุมชนต้นแบบ :
Gabriel Metcalf เห็นว่าการแก้ปัญหาของสังคมทำได้ด้วยการ
“สร้างชุมชนต้นแบบ” ที่เป็นแบบอย่าง ให้คนเข้ามาชม มาสัมผัสเรียนรู้
อีกทั้งตัวชุมชนต้นแบบต้องปรับปรุงพัฒนาให้ดีกว่าเดิมตลอดเวลา หากชุมชนต้นแบบดีจริง
ชุมชนอื่นจะเลียนแบบ และที่สุดแล้วคือสร้างสังคมใหม่ทั้งประเทศ
แนวคิดสร้างชุมชนทางเลือกไม่ใช่ของใหม่ มีผู้ใช้แนวคิดนี้ตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
(หรือนานกว่านั้น)
การสร้างชุมชนต้นแบบไม่ได้หมายถึงต้องรื้อใหม่หมด
สร้างทั้งชุมชนให้แตกต่างจากเดิม ส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือเฉพาะด้าน เช่น ความร่วมมือของผู้บริโภค
ความร่วมมือด้านอาหาร คลินิกชุมนุม สื่อทางเลือก แม้กระทั่งสกุลเงินท้องถิ่น (local
currencies)
รากฐานของ โครงการ “City
Carshare” มาจากแนวคิดสร้างชุมชนต้นแบบนั่นเอง
การเรียนรู้ของภาคประชาชน :
องค์กรภาคประชาชน (NGOs)
มักเริ่มต้นจากความต้องการของบางคนบางกลุ่มที่ได้รับแรงบันดาลใจให้ทำบางอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม
บ่อยครั้งเริ่มต้นจากตัวคนเดียว อาศัยความรู้และประสบการณ์ของตนเอง
ความที่เริ่มจากตัวคนเดียวจึงมักไม่ค่อยมีทรัพยากร
(เว้นแต่บุคคลผู้นั้นเป็นเศรษฐี อย่างบิล เกตส์ (Bill Gates)
วอร์เร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)) การขับเคลื่อนจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ หากได้คนร่วมอุดมการณ์มากขึ้น มีทุนมากขึ้นก็จะขับเคลื่อนไหลลื่นความเดิม
“City Carshare” แต่แรกเริ่มไม่ได้หวังกำไร
ขอเพียงไม่ขาดทุน เพราะหวัง “ประโยชน์” ด้านสังคม ไม่ได้มุ่งหากำไร แต่เมื่อดำเนินการก็ค้นพบความจริงว่าเงินทุนไม่เพียงพอ
มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มหลายด้าน เห็นความสำคัญของจุดคุ้มทุน ประสิทธิภาพ
จึงพัฒนากลายเป็น “มืออาชีพ” โดยคงความเป็นองค์กรภาคประชาชน คงอุดมการณ์ดั้งเดิม
ในยุคนี้ การขับเคลื่อนขององค์กรภาคประชาชนหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ทรัพยากร
เรื่องประสิทธิภาพ หากต้องการเป็นองค์กรใหญ่ ต้องการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง
หนีไม่พ้นความเป็นมืออาชีพ (เช่น มีทีมงานที่เป็นนักบัญชี เป็นทนายความมีฝีมือ
ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ นักวางแผนผู้ช่ำชอง)
ไม่ควรใช้แรงงานไร้ฝีมือมาทำงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ หรือมีความรู้ด้านหนึ่งแต่ต้องไปทำงานอีกสายหนึ่ง
เรื่องทรัพยากรก็เช่นกัน
เป็นเรื่องดีหากมีผู้สนับสนุนเงินทุน แต่จะดีกว่าถ้าองค์กรอยู่ได้ด้วยตัวเอง
มีแผนกหาทุน แผนกสร้างรายได้ การมีรายได้มหาศาลไม่เป็นเหตุทำให้อุดมการณ์หดหายเสมอไป
ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ สร้างองค์กรภาคประชาชนที่มีรายได้ มีกำไร และใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่ออุดมการณ์ตนเอง
หากผู้ก่อตั้งองค์กรไม่ถนัดการหาเงิน
ควรหาทีมงานที่เป็นมืออาชีพด้านนี้
จะดีกว่าไหม
หากตัวเราผู้มีอุดมการณ์ 1 คน สามารถหาเงินสนับสนุนให้ผู้มีอุดมการณ์อีก 10 คนหรือ
100 คนทำงานโดยไม่ติดขัดด้วยคำว่า “ขาดงบประมาณ”
ขั้นต่ำที่สุด
หากมีรายได้มากขึ้น มีทุนมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้การทำงานจะไหลลื่นกว่าเดิม
27 สิงหาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7597 วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2560)
-----------------------
บรรณานุกรม:
1. Bang-Soon Yoon. (2004). Imperial Japan’s “Military
Comfort Women” and NGO Activism in South Korea. Prepared for delivery at the Second
World Congress of Korean Studies, August 3-7, 2004. Retrieved from https://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=21&cad=rja&uact=8&ved=0CBsQFjAAOBRqFQoTCPfV16DJkMYCFQZOvAodeYsAnQ&url=http%3A%2F%2Fcongress.aks.ac.kr%2Fkorean%2Ffiles%2F2_1393919801.doc&ei=pi1-VffqLoac8QX5loLoCQ&usg=AFQjCNGnDFauuNnvRu-It4DZ087fHcOEmQ&bvm=bv.95515949,d.dGc
2. Cervero, Robert., Tsai, Yu-Hsin. (2003). San Francisco
City CarShare. Retrieved from http://www.sustainablecitiesinstitute.org/Documents/SCI/Case_Study/Case%20Study%20-%20City%20Car%20Share%20San%20Francisco%20SF.pdf
3. City Carshare. (2017, February 17). Wikipedia.
Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/City_CarShare
4. City CarShare hands over on-demand auto rentals to
Getaround. (2016, November 10). San Francisco Chronicle. Retrieved from http://www.sfchronicle.com/business/article/City-CarShare-hands-over-on-demand-auto-rentals-10605179.php
5. City CarShare Review. (2015, November 17). Review.com.
Retrieved from http://www.reviews.com/car-sharing/city-carshare/
6. Getaround. (2017, February 17). Wikipedia.
Retrieved from https://www.getaround.com/
7. Metcalf, Gabriel. (2015). Democratic by Design: How
Carsharing, Co-ops, and Community Land Trusts Are Reinventing America. New
York: St. Martin’s Press.
8. Seybolt, Peter J. (2009). Anti-Japanese War, 1937–1945.
In Encyclopedia of Modern China (4 volume set, pp.36-40). USA: Charles
Scribner’s Sons.
-----------------------------
ความคิดเห็น
โพสต์ความคิดเห็น