สถานการณ์ในหลายประเทศดีกว่าแองโกลา อย่างน้อยมีประชาชนผู้รักชาติรักบ้านเกิดยินดีลุกขึ้น ร่วมมือต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นแสงสว่างแห่งความหวัง เป็นจุดเริ่มของไฟที่อาจจะลุกโชติช่วง ที่สุดแล้วประชาชนทุกคนต้องไม่ลืมว่าตนคือพลเมือง คือเจ้าของประเทศ พลังพลเมืองคือรากฐานแห่งชาติบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
โดยทั่วไปโทษของการทุจริตคอร์รัปชันแบ่งออกเป็นด้านเศรษฐกิจกับการเมือง
คอร์รัปชันบิดเบือนกลไกตลาด ทรัพยากรถูกใช้อย่างไม่สมควร ต้นทุนเพิ่ม กำไรลด ขัดขวางการลงทุน เป็นตัวถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจ
ถ้าพิจารณาในกรอบของรัฐบาล เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเจ้าหน้าที่มักเป็นต้นเหตุของการทุจริตเสียเอง ทั้งข้าราชการพลเรือน เจ้าหน้าที่ตำรวจ บรรดาผู้รักษากฎหมาย กระทบต่อราชการทั้งระบบ การคอร์รัปชันเพิ่มต้นทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ ได้โครงการที่ไม่สมราคาหรือแม้กระทั่งโครงการที่ไม่จำต้องมี รัฐบาลที่คอร์รัปชันจึงต้องเพิ่มภาษี สูญเสียงบประมาณในด้านอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา
ในทางการเมือง คอร์รัปชันบั่นทอนความเชื่อว่าความสำเร็จเป็นโอกาสแก่ทุกคนที่พยายามหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต กลายเป็นว่าคนฉ้อฉล มีเครือข่ายอำนาจผิดกฎหมายเป็นพวกที่ได้เปรียบ คนที่ทำตามกฎหมายเป็นพวกเสียเปรียบ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือสังคมเกิดค่านิยมว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ระบบตรวจสอบปราบปรามทุจริตพึ่งไม่ได้ (หรือพึ่งได้น้อย) ตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ท้องถิ่น เป็นเรื่องการเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ระบอบการปกครองไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย สังคมนิยม อำนาจนิยมรูปแบบต่างๆ คือการที่พวกขี้ฉ้อเข้าครองอำนาจ ขูดรีดประชาชน
ประชาชนจึงไม่ศรัทธาต่อบรรดาผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประชาชนน้อยคนคิดทำเพื่อส่วนรวม เพราะค่านิยมของสังคมคนโกงครองเมืองคือทำเพื่อตนเอง
ถ้าวิเคราะห์องค์รวม มูลเหตุการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางสัมพันธ์กับการเมืองของประเทศที่คนโกงครองอำนาจทุกมิติ ทุกระดับ การที่เป็นเช่นนี้เกิดจากคนโกงเข้าไปในมีอำนาจปกครอง มีอำนาจแล้วโกงต่อและขยายอำนาจ ประสานผลประโยชน์กับคนโกงอื่นๆ
สาธารณรัฐแองโกลาหรือแองโกลาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คือตัวอย่างประเทศเช่นนี้
แองโกลา รัฐบาลที่คนโกงครองอำนาจ :
แองโกลาตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ติดมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ใช่ประเทศแห้งแล้ง มีภูมิอากาศแบบมรสุม ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
กระแสชาตินิยมก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้าน 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ The Popular Movement for the Liberation of Angola (MPLA) The National Front of Angolan Liberation (FNLA) และ The National Union for the Total Independence of Angola (UNITA) แต่ละกลุ่มต่างมีกองกำลังและพื้นที่อิทธิพลของตนเอง มีการต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างต่อเนื่อง
1975 รัฐบาลโปรตุเกสคืนเอกราชแก่แองโกลาภายใต้การบริหารของทั้ง 3 กลุ่ม ไม่นานรัฐบาลผสมก็ล่ม MPLA ใช้กำลังยึดครองอำนาจบริหาร ปกครองประเทศตามแนวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ภายใต้การสนับสนุนนของค่ายโซเวียตรัสเซีย ด้านรัฐบาลอเมริกันสนับสนุนฝ่าย UNITA ทำสงครามกองโจรกับ MPLA
เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ชาติมหาอำนาจทั้ง 2 ถอนการสนับสนุน ได้ข้อสรุปสันติภาพ จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตยในปี 1992 ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของโปรตุเกส สหรัฐและรัสเซีย แต่ Savimbi ผู้นำ UNITA ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อตนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เกิดสงครามกลางเมืองอีกรอบ ในปี 2002 Savimbi เสียชีวิตจากกองกำลังของรัฐบาล สงครามกลางเมืองยุติ หลังมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นเท่าใดนัก ฝ่ายการเมืองการปกครองที่ขณะนี้อยู่ในมือของ MPLA กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นผู้ปกครองที่ทุจริตคอร์รัปชัน การทุจริตแพร่กระจายในทุกระดับ
รูปแบบการทุจริตที่พบเห็นมากที่สุดคือ การจ่ายใต้โต๊ะ อยากให้ลูกเรียนหนังสือต้องจ่ายใต้โต๊ะ ธุรกิจเอกชนเมื่อติดต่อราชการต้องจ่าย ใครมีเงินมากกว่าเป็นผู้ชนะคดีความ แม้กระทั่งหากต้องการให้แพทย์ตรวจรักษาก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะ
MPLA ที่ครั้งหนึ่งประกาศว่าต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมยุโรปเพื่อเอกราช บัดนี้เป็นผู้กดขี่ประชาชนคนแอฟริกาด้วยกันเอง
หนึ่งในประเด็นที่เอ่ยถึงมากที่สุดคือน้ำมัน แองโกลาส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของประเทศในทวีปแอฟริกา จีดีพีร้อยละ 60 มาจากอุตสาหกรรมน้ำมัน และร้อยละ 80 ของงบประมาณรัฐมาจากน้ำมัน
ในช่วงปี 2004-08 ราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตถึงร้อยละ 15 ต่อปี แต่ในภาพรวมแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์มากเท่าที่ควร สิ่งที่เรียกว่าความเจริญการพัฒนากระจุกตัวอยู่ในเมืองที่คนมั่งมี คนชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ อาศัย แต่คนส่วนใหญ่อยู่อย่างยากจน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขาดแคลน วัฎจักรชีวิตของคนจนอยู่ในวงวันแห่งความยากจน ไร้การศึกษา สิ้นหวังและอายุสั้น
ผลกำไรจำนวนมากตกอยู่กับผู้ปกครองไม่กี่กลุ่ม ระบบบัญชีของธุรกิจน้ำมันไม่โปร่งใส อันที่จริงประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทมีกำไรเท่าใดกันแน่ มีผู้สงสัยว่าปริมาณที่ส่งออกจริงต่ำกว่ารายงานของบริษัท แต่รัฐบาลยืนยันว่ารายงานถูกต้อง ได้พยายามป้องกันการทุจริตแล้ว
รายงานของ Rafael Marques de Morais ชี้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมัน เพชรพลอย สื่อ และธนาคารอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจเดียวกัน เพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ นั่นหมายความว่า ผู้ปกครองได้ถืออำนาจรัฐ อำนาจทหาร และกุมหัวใจเศรษฐกิจไว้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นของคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่ร่วมมือกัน
รัฐบาลประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน สร้างหน่วยงานต่อต้านการทุจริต ประธานาธิบดี Jose Eduardo dos Santos กล่าวเมื่อพฤศจิกายน 2009 ว่าจะไม่ยอมรับคอร์รัปชันแม้แต่น้อยนิด (zero tolerance) แต่เท่าที่ปรากฏกลไกไร้ประสิทธิภาพ กฎหมายและการบังคับใช้อ่อนแอ หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียงน้อยนิด ไม่สามารถรับมือปัญหาทุจริตที่มีดาษดื่น สภาพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
ในระยะหลังรัฐบาลออกระเบียบเพิ่มเติมเพื่อต่อต้านการทุจริต ยอมรับการติดตามข้อมูลจากหน่วยงานระหว่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากแรงกดดันจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามยังเหลือช่องให้ทุจริตอีกมาก
จากข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏ หลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศจึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลมีความจริงใจจริงจังต่อการปราบปรามทุจริตมากเพียงใด
แองโกลาไม่ได้ยากจนเป็นประเทศด้อยพัฒนาเพราะขาดแคลนทรัพยากร แต่เพราะคนโกงครองเมือง การเป็นรัฐบาลที่ไม่โปร่งใสทำให้ผู้ปกครองต้องกุมอำนาจต่อไป ป้องกันไม่ให้พลเมืองจับผิดตน และสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ รัฐบาลต้องพยายามสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนมัวแต่วุ่นอยู่เรื่องปากท้อง เชื่อว่าฝ่ายการเมืองกำลังปฏิรูปประเทศ
ทุกวันนี้สถานการณ์คอร์รัปชันยังอยู่ในสภาพเลวร้าย ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2014 (Corruption Perceptions Index 2014) แองโกลาอยู่ในลำดับเกือบแย่ที่สุด คือได้ที่ 168 จาก 175 ประเทศ (ประเทศไทยได้ที่ 85) ชี้ว่านโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันที่รัฐบาลพยายามทำหลายสิบปีไร้ผล สถานการณ์วันนี้ไม่ต่างจากที่ผ่านมามากนัก
การต่อต้านทุจริตที่ได้ผล :
หลักสำคัญที่เอื้อให้นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้ผล มีอยู่ 2 ประการคือ ความตั้งใจจริงของรัฐบาลกับความร่วมมือของภาคประชาชน
เกาหลีใต้กับสิงคโปร์เป็น 2 ประเทศที่มักถูกเอ่ยถึง เบื้องหลังความสำเร็จคือผู้นำประเทศตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Kim Young-sam (ดำรงตำแหน่งช่วง 1993–1997) และต่อจากนั้นอีกหลายคนต่างต่อต้านอย่างจริงจัง รณรงค์ทั่วประเทศ
ส่วนสิงคโปร์เป็นตัวอย่างรัฐบาลของชนชั้นปกครองชุดเดียวกันบริหารประเทศต่อเนื่อง เริ่มต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังด้วยการยึดหลักไม่ยอมรับคอร์รัปชันแม้แต่น้อย
สังเกตว่าไม่ใช่รัฐบาลไม่รู้ว่าจะดำเนินการเช่นไร สำคัญอยู่ที่เจตจำนงเป็นหลัก
ปัจจัยสำคัญอีกข้อคือความร่วมมือของประชาชน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่านักธุรกิจ นักลงทุนอเมริกันที่ทำธุรกิจกับต่างเป็นประเทศเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เรียกร้องการต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลก
ความร่วมมือของภาคประชาชนก่อให้เกิดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หนึ่งในหน่วยงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” (Transparency International: TI) องค์กรเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดว่าภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง นอกจาก TI ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมากทั้งระดับระหว่างประเทศกับระดับท้องถิ่น ทุกวันนี้องค์กรเหล่านี้มีผลงานทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
สรุป :
ไม่มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยใดที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ทุกรัฐบาลต่างมีนโยบาย มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ผ่านมาแล้วหลายสิบปีการทุจริตในหลายประเทศไม่ดีขึ้น บางประเทศแย่ลงด้วยซ้ำ เกิดคำถามว่ารัฐบาลจริงใจกับนโยบายดังกล่าวมากเพียงใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
แองโกลาเป็นตัวอย่างประเทศที่การทุจริตลงรากถึงขีดสุด ในมุมหนึ่งอธิบายได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำตามบทบาทหน้าที่ แต่ขึ้นกับเงินใต้โต๊ะผลประโยชน์ที่ได้ ในมุมที่ลึกกว่าชี้ว่ากลุ่มผู้ปกครองยึดครองอำนาจทั้งระบบ สังคมเช่นนี้ส่งเสริมอำนาจมืด อำนาจผิดกฎหมาย ส่งเสริมค่านิยมให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรักษากฎหมาย ประชาชนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ภัยของคอร์รัปชันที่ร้ายแรงที่สุดจึงอยู่ที่ระบบจริยธรรมของสังคมที่กำลังตกต่ำเสื่อมถอย ที่สุดแล้วคนในสังคมจะมองว่าการทำร้ายกันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสังคมที่กำลังทำลายตัวเอง
วันนี้ สถานการณ์ในหลายประเทศดีกว่าแองโกลา อย่างน้อยมีประชาชนผู้รักชาติรักบ้านเกิดยินดีลุกขึ้น ร่วมมือต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นแสงสว่างแห่งความหวัง เป็นจุดเริ่มของไฟที่อาจจะลุกโชติช่วง ที่สุดแล้วประชาชนทุกคนต้องไม่ลืมว่าตนคือพลเมือง คือเจ้าของประเทศ พลังพลเมืองคือรากฐานแห่งชาติบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
(หมายเหตุ : เนื้อหาส่วนหนึ่งนำเสนอในเสวนา “พลังพลเมืองทำอะไรได้บ้าง” วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2558 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558)
6 กันยายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6878 วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2244815)
----------------------
บรรณานุกรม:
1. องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย. (2014). ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี พ.ศ. 2557. Retrieved from http://www.transparency-thailand.org/thai/index.php/2014-11-24-03-07-28/2014-11-24-03-09-45/346-2557
2. Benning, Joseph F. (2007). Corruption. In Encyclopedia of Governance. ( pp.173-176). USA: SAGE Publications.
3. Chêne, Marie. (2010, February 25). Overview of corruption and anti-corruption in Angola. Transparency International. Retrieved from http://www.transparency.org/files/content/corruptionqas/257_Corruption_and_anti_corruption_in_Angola.pdf
4. Cramer, Benjamin W. (2015). Anti-Corruption Actions: Nongovernmental and Intergovernmental Organizations. In Government Anti-Corruption Strategies: A Cross-Cultural Perspective. (pp.1-22). FL: Taylor & Francis Group.
5. Gunter, Frank R. (2008). Corruption. In Encyclopedia of Social Problems. (2 Vol Set, pp. 172-175). USA: SAGE Publications.
6. Keylor, William R. (2007). Angola (People’s Republic of Angola). In Encyclopedia of the Modern World: 1900 to the Present. New York: Infobase Publishing. pp.48-49
7. Rose-Ackerman, Susan. (2009). Corruption in the Wake of Domestic National Conflict. In Corruption, Global Security, and World Order. (pp.66-95) USA: Brookings Institution Press.
8. Underkuffler, Laura S. (2009). Defining Corruption: Implications for Action. In Corruption, Global Security, and World Order. (pp.27-46) USA: Brookings Institution Press.
9. Zhang, Yahong. (2015). What Can We Learn from Worldwide Anti-Corruption Practices? In Government Anti-Corruption Strategies: A Cross-Cultural Perspective. (pp.247-260). FL: Taylor & Francis Group.
--------------------------------