ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ปัญหาคอร์รัปชันและจุดเปลี่ยนของสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปเป็นแรงผลักดันให้ชาติสมาชิกต้องเร่งแก้ปัญหาของตน ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานร่วมกับชาติสมาชิกอื่นๆ และที่แน่ๆ คือปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาภายในของแต่ละประเทศอีกต่อไป ชาติสมาชิกที่มีปัญหารุนแรงแต่ไม่ยอมแก้ไขจะถูกเพ่งเล็ง กดดันให้แก้ปัญหา
            เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ สหภาพยุโรปได้ออกรายงานต่อต้านคอร์รัปชันฉบับแรกของตน ในชื่อ ‘E.U. Anti-Corruption Report’ รายงานดังกล่าวชี้ว่าชาติสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศประสบปัญหาคอร์รัปชันไม่แตกต่างจากประเทศในภูมิภาคอื่นๆ คอร์รัปชันในหมู่ชาติสมาชิกอาจมีลักษณะแตกต่างในแต่ละที่แต่ละแห่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดล้วนกระทบต่อธรรมาภิบาล กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือทำให้พลเมืองไม่ศรัทธาต่อสถาบันการเมือง กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย
            ที่ผ่านมาชาติสมาชิกได้พยายามต่อต้านคอร์รัปชันตามกรอบกฎหมาย แนวทางของตน แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจด้วยหลายสาเหตุ เช่น ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ระบบที่ขาดประสิทธิภาพ สถาบันต่อต้านคอร์รัปชันไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ ขาดเจตจำนงทางการเมืองเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน สหภาพยุโรปหวั่นเกรงอย่างยิ่งว่าตนจะถดถอยลงเรื่อยๆ หากชาติสมาชิกไม่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง หวังว่าการอยู่ร่วมเป็นสหภาพจะมีผลช่วยบรรเทาปัญหาให้ลดน้อยลง
สหภาพยุโรปมีการคอร์รัปชันในระดับสูง :
            มีผู้ประเมินว่าการคอร์รัปชันทำให้อียูต้องสูญเงินกว่า 120,000 ล้านยูโรต่อปี หรือเท่ากับปีละ 5.4 ล้านล้านบาท ปริมาณเงินดังกล่าวน้อยกว่างบประมาณประจำปีของอียูเพียงนิดเดียว
            ความเสียหายเชิงตัวเลขเป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือมุมมองหรือทัศนคติของประชาชนที่มีต่อปัญหาคอร์รัปชัน พบว่าชาวยุโรปร้อยละ 76 คิดว่าประเทศของตนมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง ในระดับประเทศพบว่าชาวกรีซร้อยละ 99 เชื่อว่าประเทศตนมีการคอร์รัปชันมาก ชาวอิตาลีร้อยละ 97 ชาวลิธัวเนีย สเปนและสาธารณรัฐเช็กร้อยละ 96 คิดว่าประเทศของตนมีการคอร์รัปชันสูง
            ชาวยุโรปร้อยละ 73 คิดว่าการติดสินบน การใช้เส้นสายเป็นช่องทางที่จะได้รับบริการภาครัฐอย่างสะดวกรวดเร็ว ในระดับประเทศ ชาวกรีซร้อยละ 93 ไซปรัสร้อยละ 92 สโลวาเกียและโครเอเชียร้อยละ 89 คิดเช่นนั้น
            ชาวยุโรปร้อยละ 67 คิดว่าการเงินของพรรคการเมืองไม่โปร่งใสเพียงพอ ในระดับประเทศ ชาวสเปนร้อยละ 87 ชาวกรีซร้อยละ 86 สาธารณรัฐเช็กร้อยละ 81 คิดเช่นนั้น

            การสำรวจในภาคธุรกิจเอกชน พบว่า 3 ใน 10 บริษัท (หรือร้อยละ 32) เห็นว่าการคอร์รัปชันทำให้บริษัทของตนไม่ได้รับสัญญาว่าจ้าง/สั่งซื้อ กลุ่มบริษัทที่ประสบปัญหามากที่สุดคือบริษัทก่อสร้างกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม
            4 ใน 10 บริษัทชี้ว่าวิธีการทุจริตที่มากที่สุดคือ การออกแบบสัญญาที่เอื้อต่อบางบริษัทอย่างเจาะจง (ร้อยละ 57) มีผลประโยชน์ทับซ้อน (ร้อยละ 54) การฮั้วประมูล (ร้อยละ 52) ขาดเกณฑ์ประเมินที่ชัดเจน (ร้อยละ 51) และอื่นๆ อีกหลากหลายอย่างที่ไม่โปร่งใส
            บริษัทกว่าครึ่งเห็นว่าร้อยละ 56 ของการจัดซื้อจัดจ้างระดับประเทศไม่โปร่งใส ส่วนระดับภูมิภาคกับท้องถิ่นไม่โปร่งใสถึงร้อยละ 60
            โดยรวมแล้วสหภาพยุโรป แหล่งรวมของชาติตะวันตกหลายประเทศจึงมีปัญหาการคอรรัปชันมากกว่าหลายคนเข้าใจ การพูดถึงตัวอย่างประเทศยุโรปที่มีการคอร์รัปชันต่ำเป็นจริงในบางประเทศเท่านั้น ในขณะที่บางประเทศมีปัญหาหนักไม่แพ้ประเทศด้อยพัฒนา

ปัญหาหลากหลายที่พบ :
            ‘E.U. Anti-Corruption Report’ แสดงให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันของสหภาพยุโรปโดยรวมแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วโลก บางครั้งเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไป เช่น ขาดการควบคุมติดตาม ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
            การจัดซื้อจัดจ้างภาคราชการเป็นกรณีปัญหาที่อียูให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีผลต่อเศรษฐกิจของชาติสมาชิกโดยตรง ราว 1 ใน 5 ของจีดีพีอียูมาจากการใช้งบประมาณรัฐบาล ที่น่าตกใจคือพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นแหล่งคอร์รัปชันของหลายประเทศ งบประมาณรั่วไหลมาก พบว่าราคาที่หน่วยงานราชการซื้อ อาจเป็นราคาที่สูงเกินจริงถึงร้อยละ 20-25 ของราคาที่ควรจะเป็น และในบางกรณีอาจสูงเกินจริงถึงร้อยละ 50

            การคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่นเป็นอีกประเด็นที่พูดถึงมาก พบว่าการคอร์รัปชันในหลายประเทศมักเกิดกับข้าราชการระดับภูมิภาคกับระดับท้องถิ่น เนื่องจากขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ขาดการควบคุมภายใน การตรวจสอบจากส่วนกลางไปไม่ถึง บางครั้งเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันมีอำนาจน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคที่ต้องกำกับดูแล
            การคอร์รัปชันระดับท้องถิ่นมักเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในหลายกรณีพบว่าท้องถิ่นเหล่านี้ปฏิบัติตามกลไกควบคุมต่อต้านคอร์รัปชันเพียงเล็กน้อย ไม่ใส่ใจ ขาดการประสานงานเชื่อมโยง จำต้องแก้ไขเพื่อให้กลไกทำงานได้จริง

            หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันมักเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากฝ่ายการเมืองทั้งทางตรงทางอ้อม เช่นเดียวกับศาลที่ต้องเผชิญแรงกดดัน พบว่าบางครั้งศาลจะหลีกเลี่ยงเกี่ยวข้องกับคดีของนักการเมืองระดับสูง คดีที่การตรวจสอบซับซ้อน บางประเทศที่มีศาลสำหรับคดีคอร์รัปชันโดยเฉพาะ ศาลเหล่านี้มักถูกสังคมเพ่งเล็งว่ากระทำหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่ ต้องไม่มีปัญหาว่าศาลใช้เวลานานเกินไปจนคดีหมดอายุความ ซึ่งบางครั้งเกิดจากความจงใจ

ปัญหาอันเนื่องจากกฎหมาย แนวทางที่ต่างกัน :
            เนื่องจากชาติสมาชิกอียูยังมีอธิปไตยของตนเอง จึงเป็นธรรมดาที่แต่ละประเทศจะมีกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่แตกต่าง ตามบริบท ตามพัฒนาทางการเมือง ทางกฎหมายของตน ความแตกต่างนี้บางครั้งเป็นข้อดี บางครั้งเป็นข้อเสีย
            ประเด็นพรรคการเมืองรับเงินสนับสนุนอย่างผิดกฎหมาย การซื้อเสียงด้วยวิธีการต่างๆ เป็นกรณีตัวอย่าง บางประเทศพยายามแก้ไขด้วยการตรากฎหมายป้องกันปัญหาการบริจาคเงินแก่พรรคการเมือง แต่ปัจจุบันยังมีบางประเทศที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามสามารถบริจาคเงินมากเท่าที่ต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ บางประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายการเมืองแก้ไขด้วยการที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่แสดงความโปร่งใสทางการเงินโดยสมัครใจ บางครั้งพรรคการเมืองคว่ำบาตรนักการเมืองในสังกัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน โดยรวมแล้ว แต่ละประเทศมีกฎหมาย มีกลไกการควบคุมต่อต้านคอร์รัปชันที่แตกต่าง ขาดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
            กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตอันเนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นอีกกรณีตัวอย่าง บางประเทศบังคับใช้ต่อคนจำนวนมาก ครอบคลุมทั้งพวกนักการเมือง ข้าราชการ แม้กระทั่หงหน่วยงานเฉพาะทาง บางประเทศการสอบสวนกระทำผ่านระบบศาล แต่บางประเทศกระทำผ่านคณะกรรมาธิการรัฐสภาที่มีขีดความสามารถจำกัด
            ยังมีนโยบายป้องกันอีกหลายเรื่องที่แต่ละประเทศต่างมีแนวทางของตนเอง กลายเป็นว่ามีหลายมาตรฐาน แต่ถ้ามองในแง่ดีคือเป็นโอกาสให้แต่ละประเทศได้เลือกใช้แนวทางป้องกันปราบปรามที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง

อียูกดดัน ชาติสมาชิกต้องปรับตัว :
            ดังที่กล่าวแล้วว่าสมาชิกอียู 28 ประเทศมีความโปร่งใส มีปัญหาคอร์รัปชันมากน้อยแตกต่างกันไป และเนื่องจากการคอร์รัปชันมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอียูโดยรวม กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ อียูจึงตั้งเป้าช่วยเหลือชาติสมาชิกทุกประเทศให้มีความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชัน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเทศที่มีปัญหาทุจริตในระดับสูง
            จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ระบบเศรษฐกิจกับภาคธนาคารปั่นป่วน เสถียรภาพของรัฐบาลหลายประเทศสั่นคลอน ผู้คนหลายล้านตกงาน วิกฤตเศรษฐกิจ 2008 จึงส่งผลกระทบต่ออียูโดยตรง แต่เป็นโอกาสให้อียูได้ทบทวนระบบเศรษฐกิจของตน มองเห็นจุดบกพร่อง เป็นโอกาสที่จะได้ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจเพื่อเผชิญความท้าทายในอนาคต
            และเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลตระหนักเรื่องความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่าแต่ก่อน คนยุโรปคาดหวังว่าอียูจะช่วยรัฐสมาชิกขจัดปัญหาเหล่านี้
            เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน 2008 และวางรากฐานเศรษฐกิจเสียใหม่ ในปี 2010 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ‘Europe 2020’ อันเป็นแผน10 ปีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้ามีประสิทธิภาพ ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีงานทำ รักษาสิ่งแวดล้อม แต่การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจะเป็นไปไม่ได้หากขาดรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล สังคมที่มีการคอร์รัปชันเพียงเล็กน้อย และจำต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติสมาชิกทั้งหมด ต้องเป็นการเข้าสู่เส้นชัยร่วมกัน เพราะวิกฤตเศรษฐกิจของสมาชิกบางประเทศกระทบเป็นลูกโซ่ต่อชาติสมาชิกอื่นๆ

            ถ้าจะมองในแง่ดี สหภาพยุโรปเป็นแรงผลักดันให้ชาติสมาชิกต้องเร่งแก้ปัญหาของตน ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานร่วมกับชาติสมาชิกอื่นๆ และที่แน่ๆ คือปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่ปัญหาภายในของแต่ละประเทศอีกต่อไป ชาติสมาชิกที่มีปัญหารุนแรงแต่ไม่ยอมแก้ไขจะถูกเพ่งเล็ง กดดันให้แก้ปัญหา
            ถ้าจะวิเคราะห์แบบลึกๆ ‘E.U. Anti-Corruption Report’ คือการเปิดเผยปัญหาคอร์รัปชันของชาติสมาชิกและให้เห็นภาพรวม ชี้ให้เห็นว่าชาติสมาชิกที่ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ การเมืองไม่มั่นคง มักมีการทุจริตคอร์รัปชันระดับสูงเป็นองค์ประกอบ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหา จะต้องแก้ไขทั้ง 3 ด้านหลักไปพร้อมๆ กัน นี่เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป เชื่อว่าในอนาคตสหภาพยุโรปจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดประเด็นให้ชาติสมาชิกได้ถกเถียงกันมากขึ้น รายงานชิ้นนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันก็เป็นได้
9 กุมภาพันธ์ 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6305 วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557)
---------------------
ประชาสัมพันธ์ :
จองโรงแรมที่พักกับ Booking.com
728*90 บทความที่เกี่ยวข้อง
1. คดีทุจริตกล่าวหามาเรียโน ราโคย นายกรัฐมนตรีสเปน
นายมารีโน ราโคย นายกรัฐมนตรีสเปนกับแกนนำพรรคหลายคนกำลังถูกกล่าวหาว่ารับเงินใต้โต๊ะจากบริษัทเอกชนเพื่อแลกกับการได้โครงการก่อสร้างของรัฐ อนุมัติโครงการก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีราโคยกับพวกจะถูกตัดสินใจว่าถูกหรือผิด ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธคือสเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคอร์รัปชันสูง และกลายเป็นต้นเหตุหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจที่จนถึงวันนี้ยังแก้ไม่ได้

บรรณานุกรม:
1. EUROPE 2020: A strategy for smart, sustainable and inclusive growth. (2010). European Commission. Retrieved from http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=COM:2010:2020:FIN:EN:PDF
2. E.U. Anti-Corruption Report. (2014). European Commission. Retrieved from http://ec.europa.eu/dgs/home-affairs/e-library/documents/policies/organized-crime-and-human-trafficking/corruption/docs/acr_2014_en.pdf
------------------------------

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ
ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 แพ็กเกจตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ปรึกษาแพทย์ ส่วนลดค่ายา

ประกันภัยเบาหวาน Protect

ประกันภัยเบาหวาน Protect
สนใจคลิก

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ
ซื้อหรือสอบถามคลิกที่รูป