ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ทุจริตคอร์รัปชัน ภัยร้ายของประชาคมโลก

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เพิ่งออกรายงานผลสำรวจการชี้วัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกฉบับปี 2013 (Global Corruption Barometer 2013) ชี้ว่า ‘คอร์รัปชันในปัจจุบันแฝงตัวอยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตย อยู่ในกระบวนการยุติธรรมหลายประเทศ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในพรรคการเมือง สถาบันตุลาการ ตำรวจ และอีกหลายสถาบัน’
สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันทั่วโลก
            ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งประกอบด้วยประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั่วโลกร้อยละ 53 เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสองปีก่อน ร้อยละ 29 เห็นว่าเท่าเดิม ส่วนร้อยละ 18 เห็นว่าลดลง (อนึ่ง การสำรวจนี้กระทำกับคนทั่วโลก สถานการณ์บางประเทศอาจดีขึ้น บางประเทศอาจแย่ลง และขึ้นกับความเห็นส่วนบุคคล) ประเทศที่สถานการณ์แย่ลงมากคือ แอลจีเรีย เลบานอน โปรตุเกส ตูนิเซีย วานูอาตู (Vanuatu) และซิมบับเว ประเทศที่เห็นว่าดีขึ้นคือ เบลเยียม กัมพูชา จอร์เจีย รวันดา เซอร์เบีย และไต้หวัน ประเทศเหล่านี้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าสองในสามเห็นว่าแย่ลงหรือดีขึ้น
            ในด้านความร้ายแรงของปัญหา ผู้คนทั่วโลกเห็นว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาร้ายแรง บางประเทศเห็นว่าร้ายแรงมาก เฉลี่ยแล้วมีความร้ายแรง 4.1 จากคะแนนเต็ม 5 ประเทศไลบีเรียกับมองโกเลียได้คะแนนถึง 4.8 ส่วนประเทศเดนมาร์ค ฟินแลนด์ รวันดา ซูดานและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันไม่มากได้คะแนนต่ำกว่า 3
            จากข้อมูลที่ได้มาพบว่าการทุจริตในสถาบันหลักของสังคมในแต่ละประเทศมีความแตกต่าง โดยรวมแล้วสถาบันพรรคการเมืองมีการทุจริตมากที่สุด รองลงมาคือตำรวจ สถาบันศาล รัฐสภาและข้าราชการ จะเห็นได้ว่าสถาบันเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบริหารกำกับดูแลประเทศ เป็นผู้ใช้กฎหมาย

            เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พรรคการเมืองซึ่งมีบทบาทนำเสนอนโยบาย ส่งบุคคลเป็นตัวแทนประชาชนเข้าบริหารประเทศ มีความสำคัญต่อรากฐานประชาธิปไตยแต่กลับถูกมองว่าเป็นสถาบันที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุด โดยเฉพาะที่ประเทศกรีซ เม็กซิโก เนปาลและไนจีเรีย ที่มาของเงินทุนเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งคือประเด็นที่มีความสำคัญที่สุด  เพราะผู้ให้ทุนจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง
            คนส่วนใหญ่คิดว่าระบบการปกครองมอบให้รัฐบาล (รวมฝ่ายนิติบัญญัติ) ทำหน้าที่นำสังคมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นผู้วางมาตรฐาน ออกกฎหมายและใช้กฎหมาย แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกิดคำถามสำคัญว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่เต็มกำลังหรือไม่ ผลการสำรวจพบว่าประชาชนทั่วโลกร้อยละ 54 เห็นว่ารัฐบาลพยายามน้อยเกินไป ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 จากการสำรวจเมื่อปี 2010/2011การที่รัฐบาลหย่อนยานในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันคือหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คอร์รัปชันขยายตัว
            นอกจากนี้ประชาชนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 54) คิดว่ารัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มมากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ และประชาชนกว่าร้อยละ 80 ในประเทศไซปรัส กรีซ เลบานอน รัสเซีย แทนซาเนีย และยูเครนเชื่อว่ารัฐบาลบริหารโดยคนไม่กี่กลุ่มเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง

            ในบรรดาพฤติกรรมคอร์รัปชันการติดสินบนจ่ายใต้โต๊ะคือประเด็นที่รายงานสำรวจปี 2013 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นเหตุทุจริตที่คนทั่วไปประสบด้วยตนเองมากที่สุด สาเหตุหนึ่งที่การติดสินบนเกิดขึ้นมากเป็นเพราะคนจำนวนมากเห็นว่าการติดต่อกับหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก บางประเทศสูงกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ อิสราเอล อิตาลี เลบานอน มาลาวี โมร็อกโก เนปาล ปารากวัย รัสเซีย ยูเครน และวานูอาตู
            หลายคนอาจเห็นว่าการให้สินบนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับบางคนแล้วมีผลต่อชีวิตทั้งครอบครัว มีตัวอย่างว่ารัฐบาลประเทศโมร็อกโกมีนโยบายรื้อถอนชุมชนสลัมไปที่อยู่แห่งใหม่ที่รัฐจัดให้ซึ่งดีกว่า แต่เจ้าหน้าที่เรียกสินบนแลกกับการเดินเรื่อง สุดท้ายครอบครัวที่ไม่ยอมจ่ายหรือไม่มีปัญญาจ่ายกลายเป็นคนไร้บ้านหลังจากที่รัฐเข้าไปทำการรื้อถอนสลัม
            คนส่วนใหญ่เห็นว่าการจ่ายสินบนค่าน้ำร้อนน้ำชาเป็นเรื่องเล็กน้อย ประชาชนผู้มีกำลังซื้อสูงมักจะยินดีที่จะจ่าย แต่กับบางประเทศการติดสินบนลุกลามบานปลาย เม็กซิโกเป็นตัวอย่างที่ประชาชนต้องจ่ายสินบนเป็นประจำ ครอบครัวกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางต้องเสียเงินเป็นค่าสินบนถึงร้อยละ 14 ของรายได้ครัวเรือน ส่วนครอบครัวยากจนต้องจ่ายค่าสินบนถึงร้อยละ 33 ของรายได้ครอบครัว ดังนั้นคนยากคนจนคือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสังคมที่ต้องติดสินบน
            ผลเสียของการติดสินบนไม่ใช่เพียงเรื่องที่คนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังทำลายระบบประสิทธิภาพ การให้บริการอย่างเท่าเทียม ทำลายการเคารพกฎหมาย บั่นทอนความซื่อสัตย์ของทั้งสังคม
            ผลสำรวจล่าสุดพบว่าประชาชนราวร้อยละ 27 ยอมรับว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่อย่างน้อย 1 ครั้ง หรือเท่ากับว่าประชากรราวหนึ่งในสี่ของโลกได้รับผลกระทบจากการติดสินบน ผลสำรวจปีนี้สอดคล้องกับผลสำรวจสองครั้งก่อนหน้านี้ ถ้าพิจารณาเฉพาะการติดสินบนแก่หมู่ข้าราชการ ข้าราชการตำรวจคือกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด รองลงมาคือเจ้าหน้าที่ในศาล ประเทศที่ต้องติดสินบนตำรวจมากที่สุดคือคองโก กานา อินโดนีเซีย เคนยา ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone)

ข้อเสนอแนะจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
            รายงาน Global Corruption Barometer 2013 ได้เสนอแนะแนวหลักทางแก้ไข ดังนี้
            ประการแรก สร้างความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือแก่สถาบัน องค์กรหลักของสังคม
            ด้วยการที่รัฐบาลต้องบริหารประเทศด้วยความเปิดเผยโปร่งใส สังคมสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ มีระบบกลไกชัดเจนเพื่อเป็นช่องทางให้สาธารณชนเข้าตรวจสอบ รัฐบาลจะต้องมีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมาตรฐานตาม UN Convention Against Corruption Article 9 และ OECD Principles on Enhancing Integrity in Public Procurement ส่วนข้าราชการจะต้องปฏิบัติตัวตามมาตรฐานทางจริยธรรมหรือข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct)
            ประการที่สอง สังคมยึดมั่นนิติธรรม
            เริ่มด้วยการที่รัฐบาลปฏิรูปโครงสร้างและระบบงานของตำรวจ ป้องกันการคอร์รัปชันจากเจ้าหน้าที่ ให้สถาบันตุลาการเป็นอิสระ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จัดให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายหรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่ขึ้นกับกลุ่มอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
            ประการที่สาม ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ
            เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องวางระบบเพื่อให้เกิดการป้องกัน ตรวจสอบ สืบสวน จนถึงขั้นนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล จะต้องมีกลไกให้ชาวบ้านสามารถร้องเรียน เป็นพยาน
            ประการที่สี่ ระบอบประชาธิปไตยที่ใสสะอาด
            รัฐบาลต้องมีกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายให้ระบบการเงินของพรรคการเมืองโปร่งใส ตัวพรรคการเมืองต้องสรรหาผู้สมัครที่ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย เปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมือง นอกจากนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน รายได้ต่างๆ
            ประการที่ห้า ให้ประชาชนมีเครื่องมือและได้รับการปกป้องจากการต่อสู้คอร์รัปชัน
            รัฐบาลต้องมีกฎหมายคุ้มครองพยาน ผู้ให้ข้อมูลแก่รัฐ สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันและเป็นกลไกช่วยเหลือประชาชนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษ
            ประการที่หก บทบาทของประชาชน
            ประชาชนมีส่วนต่อต้านคอร์รัปชันได้หลายรูปแบบ เช่น ด้วยการปฏิเสธจ่ายสินบนในทุกกรณี ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องรายงานการทุจริตหรือมีเหตุน่าสงสัย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาชนควรจัดรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันทั่วประเทศ มีงานวิจัยพบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 90 ในหลายประเทศพร้อมเข้าชื่อลงนามเรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา รณรงค์ไม่เลือกผู้สมัครผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองที่มีประวัติไม่โปร่งใสหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน

            โดยรวมแล้วผลสำรวจการชี้วัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกในปี 2013 ให้ภาพบวกว่าการพูดเรื่องคอร์รัปชันเมื่อทศวรรษ 1990 เป็นการพูดอย่างลับๆ ระหว่างคนใกล้ชิด แต่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่รับรู้ปัญหาและหวังจะแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนในด้านลบพบว่าการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น ประชาชนผู้ยินดีมีส่วนช่วยแก้ปัญหาลดน้อยลง
            สำหรับรัฐประชาธิปไตยผลปลายทางของการคอร์รัปชันที่ลุกลามบานปลายเรื่อยๆ คือ ระบอบที่เหลือแต่โครงสร้าง แต่เนื้อในกลายเป็นรัฐอำนาจนิยม (authoritarian state) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ผู้นำประเทศไม่ได้ปกครองเพื่อประชาชนส่วนใหญ่แต่เพื่อประโยชน์แก่กลุ่มพรรคพวกของตน ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศตกแก่คนส่วนน้อย ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนยากคนจน เป็นผู้มอบความมั่งคั่งแก่คนส่วนน้อย เป็นลักษณะของความไม่เท่าเทียมอย่างหนึ่งที่คนส่วนน้อยได้ประโยชน์มาก ในขณะที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้แบกภาระของประเทศ
            หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีกประเทศจะกลายเป็น รัฐที่ล้มเหลว’ (Failed State) เป็นสภาพของ รัฐบาลที่ไม่สามารถหรือไม่ต้องการปฏิบัติตามหน้าที่หลักอันมีต่อประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งคนยากจน รัฐเช่นนี้เป็นอันตรายไม่เพียงแต่ตัวเองและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังรวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วโลก เพราะประเทศที่กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวอาจเกิดความขัดแย้งภายในจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง สังคมเต็มด้วยอาชญากร กลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่นๆ ประเทศเหล่านี้จะประสบวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลก จึงมักเป็นรัฐที่ต่างชาติเข้าแทรกแซงด้วยเหตุผลช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือช่วยรักษาความมั่นคงภายในประเทศ
            บางคนอาจคิดว่าตนได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชันไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่สภาพดังกล่าวไม่ยั่งยืน ทำให้คอร์รัปชันลุกลามซึมลึก ผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนและได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และหากคอร์รัปชันยังบานปลายเรื่อยๆ มีตัวอย่างให้เห็นจากหลายประเทศว่าสุดท้ายสังคมจะปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนัก เมื่อถึงวันนั้นการแก้ไขจะต้องจ่ายราคาอย่างเจ็บปวด
21 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6103 วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2556, http://www.ryt9.com/s/tpd/1696681)
-----------------
บรรณานุกรม:
1. Global Corruption Barometer 2013, Transparency International, http://www.transparency.org/whatwedo/pub/, accessed 14 July 2013
2. Rupert Taylor, What is a Failed State?: Some Countries are so Dysfunctional they don’t Exist as Nations, http://global-security.suite101.com/article.cfm/what_is_a_failed_state, accessed 23 April 2010.
3. Robert I. Rotberg, Failed States in a World of Terror, Foreign Affairs, July/August 2002, http://www.foreignaffairs.com/articles/58046/robert-i-rotberg/failed-states-in-a-world-of-terror, accessed 23 April 2010.
-----------------

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ
ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 แพ็กเกจตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ปรึกษาแพทย์ ส่วนลดค่ายา

ประกันภัยเบาหวาน Protect

ประกันภัยเบาหวาน Protect
สนใจคลิก

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ
ซื้อหรือสอบถามคลิกที่รูป