ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

โรคระบาดโควิด-19 ใน 2 ภาพ (2)

ถ้ามองว่าโควิด-19 เป็น disruptor แต่กับบางคนคือโอกาสที่ได้ทบทวนชีวิต เริ่มงานและอนาคตใหม่ คนประสบความสำเร็จในยุคโควิด-19 มีมากมาย เราเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้แต่เปลี่ยนความคิดได้


             ตอนที่แล้วนำเสนอสถานการณ์โลกระบาดกับวัคซีน ตอนที่ 2 นำเสนอผลกระทบด้านต่างๆ โดยสังเขป ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ :

            ผลต่อเศรษฐกิจคือเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าโรคระบาด รัฐบาลทุกประเทศทำเหมือนกันใช้งบประมาณมหาศาลกระตุ้นเศรษฐกิจ พยายามให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้า ยกตัวอย่าง กุมภาพันธ์ 2021 จาเน็ท เยลเลน (Janet Yellen) รมต.คลังสหรัฐอธิบายว่าจำต้องใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อให้การจ้างงานกลับสู่ปกติในปีหน้า ไม่เช่นนั้นอาจต้องรอถึงปี 2025 กว่าการจ้างงานจะกลับสู่ปกติ

            การกระตุ้นเห็นผลตามลำดับ ตลอดไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจหลายประเทศบ่งชี้ว่าสถานการณ์ดีขึ้น มกราคม IMF คาดปีนี้เศรษฐกิจโลกโต 5.5% การค้าโลกเพิ่ม 8.1% 

            รัฐบาลสิงคโปร์ประเมินจีดีพีปีนี้จะโต 4-6% หลังปีก่อนติดลบ 5.4%

            ต้นมีนาคมจีนประกาศเป้าปีนี้โต 6% ตั้งงบขาดดุล 3.2% ของจีดีพี แต่ 3 สัปดาห์ต่อมาธนาคารโลกคาดว่าจีนจะโต  8.1% ฟื้นตัวเร็วสุดในเอเชียแปซิฟิก เวียดนามเป็นอีกประเทศที่ฟื้นเร็วคาดปีนี้โต 6.6% จากที่เดิมโต 2.9%

            ด้านเกาหลีใต้ IMF ประเมินเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปีนี้โต 3.6% จากเดิมที่คิดว่าโต 3.1% เป็นผลจากการคลายล็อกดาวน์ ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

            สถานการณ์ว่างงานในหลายประเทศดีขึ้นตามลำดับ ข้อมูลสหราชอาณาจักรชี้ว่าไตรมาส พ.ย.-ม.ค. เหลือคนว่างงาน 5% แต่นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่ายอดว่างงานอาจเพิ่มเป็น 6% ในปีนี้

            ภาพลบด้านเศรษฐกิจ

            ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเด่นๆ ล้วนชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้น การจ้างงานดีขึ้น เป็นความจริงที่ส่วนหนึ่งฟื้นตัวจริง แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกประเทศอยู่ในภาวะที่รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณมหาศาล อุดหนุนธุรกิจแจกเงินให้ประชาชนใช้จ่าย เกิดคำถามว่าเงินเหล่านี้ต่างหากที่กำลังทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าหรือเปล่า จะมีปัญหาอื่นๆ อาจตามมาหรือไม่

            กุมภาพันธ์ IMF เตือนให้ระวังปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมาหลังรัฐบาลไบเดนออกมาตรการอัดฉีดเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

            มีผู้วิเคราะห์ว่าการขาดดุลมหาศาลที่รัฐก่อจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่ง รัฐบาลไบเดนกับทรัมป์ไม่ต่างกัน เร่งพิมพ์เงินแจกหลายล้านๆ ดอลลาร์ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า เรื่องที่น่ากังวลคือหากรัฐแจกเงินมหาศาลแต่ประชาชนไม่ค่อยใช้ เก็บออมเพิ่มสู้กับเงินเฟ้อ ผลคือยอดขาดดุลภาครัฐพุ่งสูงลิบแต่เศรษฐกิจขยับน้อยกว่าการขาดดุล

            ในขณะที่ดัชนีต่างๆ กำลังฟื้นตัว ความวิตกกังวลต่อโรคน้อยลง รัฐบาลเกาหลีใต้เตือนว่าเศรษฐกิจปีนี้ผันผวนยากจะคาดเดา แม้ยอดส่งออกตอนนี้ดีขึ้นแต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ กระทบการจ้างงาน ในทำนองเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐชี้เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัวเร็วกว่าคาดแต่ยังอีกไกลกว่าจะเหมือนเดิม ยืนยันว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ยังมีจุดที่ต้องช่วยเหลือ ล่าสุดอัตราว่างงานสหรัฐอยู่ที่ 6.2% แต่ตัวเลขนี้ไม่สะท้อนการจ้างงานจริง บ้างว่าอาจสูงถึง 10 %

            เมื่อต้นปีผอ. IMF คริสตาลินา กอร์เกียวา (Mrs. Kristalina Georgieva) ประเมินว่าผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง ขยายความเหลื่อมล้ำ อาจส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจสังคม หลายคนจะรับผลของมันเป็นทศวรรษ

ต้องติดตามการจ้างงาน กำลังซื้อของประชาชน เงินจะเฟ้อเกินอัตราที่ควรจะเป็นหรือไม่           

ปัญหาสังคม :

            ในขณะที่การสู้กับเชื้อโรค ภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญใกล้ตัวที่สุด ประเด็นผลกระทบทางสังคมคืออีกด้านที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ปีที่แล้ววารสาร The Lancet Psychiatry ระบุคนทั่วโลกหลายพันล้านคนอยู่ในภาวะวิตกกังวล หวาดกลัว หลังต้องอยู่แบบแยกตัว ใช้ชีวิตตามมาตรการกักโรค กังวลเรื่องระบบสาธารณสุข ภาวะเศรษฐกิจ

            ยกตัวอย่าง ผลจากโควิด-19 ทำให้คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น สาเหตุหนึ่งเนื่องจากความเปลี่ยวเหงา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงแต่งตั้ง Tetsushi Sakamoto เป็นรัฐมนตรี (state minister) แก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ

            คนที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ในช่วงโควิด-19 เป็นกลุ่มที่จิตตกแรงสุด บางคนคิดฆ่าตัวตายเพื่อไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว นักเรียนนักศึกษาหลายคนหยุดเรียนเพื่อทำงาน เหล่านี้ไม่ใช่ทางเลือกที่พวกเขาชอบแต่จำต้องทำ

            Japan Institute for Labour Policy and Training เผยว่า 60 % ของพวกแม่เลี้ยงหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้รับผลกระทบ และกว่า 1 ใน 3 บอกว่าเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ไหวอีกแล้ว คนเหล่านี้อยู่ได้ด้วยอาหารบริจาค องค์กรภาคประชาชนหลายแห่งทำงานอย่างหนักเพื่อเข้าถึงคนเหล่านี้และให้ความช่วยเหลือ

            ปัญหาสังคมมีอีกหลายด้านหลายแง่มุม รวมความแล้วหลายอย่างถูกทำลาย ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกนาน

โรคใหม่ โลกใหม่ :

            แต่ไหนแต่ไรสหรัฐคือประเทศที่เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไปลงทุนมากสุด ปีที่แล้ว (2020) United Nations Conference on Trade and Development รายงานว่าบริษัทต่างชาติลดการลงทุนในสหรัฐ 49% เหลือ 134,000 ล้านดอลลาร์ ไปลงทุนในจีนเพิ่ม 4% เป็น 163,000 ล้านดอลลาร์

            เทียบกับตัวเลขปี 2019 FDI สหรัฐสูงกว่าจีน สหรัฐได้ 251,000 ล้านดอลลาร์ จีนได้ 140,000 ล้านดอลลาร์ แต่ด้วยโควิด-19 จีนพลิกกลับมาเป็นผู้นำทันที ปี 2020 กลายเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนดึงดูดเม็ดเงินด้านการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในโลก

            เม็ดเงินต่างชาติมีส่วนช่วยพยุงจีดีพี ปีที่แล้วยังโต 2.3% ในขณะที่ชาติเศรษฐกิจสำคัญๆ ของโลกติดลบถ้วนหน้า ในแง่ตัวเลขเงินลงทุนประเทศที่การลงทุนต่างชาติลดลงมากๆ เช่น สหราชอาณาจักรกับอิตาลีลดลงเกือบ 100% รัสเซียลดลง 96% เยอรมนี 61% บราซิล 50%

            ในภาพรวม ปีที่แล้วเม็ดเงินลงทุนต่างชาติลดลง 42% ต่ำสุดย้อนหลังไปถึงทศวรรษ 1990 และต่ำกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (2008-09) ถึง 30% รายงานสหประชาชาติชิ้นนี้ระบุชัดว่าการที่จีนควบคุมโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วรักษาเสถียรภาพการลงทุน

            FDI เป็นข้อมูลชิ้นหนึ่งบรรยายโลกที่เปลี่ยนไป จัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดาชี้ว่าก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว โรคระบาดเร่งให้เปลี่ยนเร็วและรุนแรงกว่าเดิม หลายอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทางที่ดีที่สุดคือทุกประเทศต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันให้มากที่สุด

            สัปดาห์ก่อนผู้นำกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ชี้ โควิด-19 คือความท้าทายหรือภัยคุกคามใหญ่สุดในรอบ 80 ปี แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ดังนั้นทุกประเทศต้องให้ความสำคัญยิ่งยวดและบ่งชี้ว่าเรื่องนี้จะมีผลอีกยาว นักวิชาการบางคนชี้อย่าคาดหวังว่าโลกจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก เมื่อออกนอกบ้านทุกคนจะสวมหน้ากากอนามัย การเรียนออนไลน์จะเป็นเรื่องปกติ หลายอย่างจะหันเข้าหาระบบดิจิทัล บรรษัทจะผูกขาดระบบดิจิทัล

            ในเวลา 15 เดือนโควิด-19 กวาดทำลายสิ่งต่างๆ ไปแล้วมากมาย กว่า 2.8 ล้านคนเสียชีวิต ป่วยหนักในจำนวนที่มากกว่า ผู้คนนับร้อยล้านตกงานหรือต้องหางานใหม่ กลายเป็นคนจนในชั่วข้ามคืน แต่ในอีกด้านพบว่ามหาเศรษฐีพันล้านฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลายคนร่ำรวยขึ้นจากอาชีพใหม่ มีผู้ประสบความสำเร็จมากมาย เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู ถ้ามองว่าโควิด-19 เป็น disruptor แต่กับบางคนคือโอกาสที่ได้ทบทวนชีวิต วางแผนใหม่ เริ่มงานและอนาคตใหม่

             ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้ามุมมองเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยน เราเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้แต่เปลี่ยนความคิดได้” ไม่ช้าก็เร็วยุคโควิด-19 จะผ่านไป เป็นบริโลกใหม่ที่ต้องการทัศนะมุมมองใหม่ พัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับบริบท เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

4 เมษายน 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8909 วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564)

------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
มนุษย์รู้จักโรคโควิด-19 มากขึ้น มีวัคซีนให้ใช้แล้ว ช่วยลดคนป่วยหนักเสียชีวิต คลายความวิตกกังวลได้มาก แต่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลกเมื่อไหร่ยังเป็นปริศนาเพราะขึ้นกับหลายปัจจัย โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ทุกคนยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมกำลังขยายตัว โรคระบาดโควิด-19 ซ้ำเติมให้รุนแรงกว่าเดิม หลายปัญหาใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ อยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินลงมือทำหรือไม่เท่านั้น
บรรณานุกรม :

1. China set to lead recovery of East Asian and Pacific economies: World Bank. (2021, March 26). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-asia-economy-worldbank/china-set-to-lead-recovery-of-east-asian-and-pacific-economies-world-bank-idUSKBN2BI02O

2. China sets modest GDP growth target as economy improves. (2021, March 5). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/business/china-sets-modest-gdp-growth-target-as-economy-improves-14339188

3. Coronavirus latest: German easing of lockdown to start with schools on May 4. (2020, April 15). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/coronavirus-latest-german-easing-of-lockdown-to-start-with-schools-on-may-4/a-53127607

4. Coronavirus pandemic as a tool to create the new world order. (2021, January 12). Pravda. Retrieved from https://english.pravda.ru/world/145513-pandemic_new_world_order/

5. COVID: World’s poorest will take over 10 years to recover financially from pandemic: Oxfam report. (2021, January 25). Euronews. Retrieved from https://www.euronews.com/2021/01/25/covid-world-s-poorest-will-take-over-10-years-to-recover-financially-from-pandemic-oxfam-r

6. Economic uncertainty continues amid flare-up in COVID-19: finance ministry. (2021, January 15). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20210115002751320?section=market/economy

7. Foreign companies are giving up on the United States and betting big on China, report says. (2021, January 24). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/01/24/investing/us-china-foreign-direct-investment/index.html

8. Global leaders call for a pandemic treaty — but U.S. and China remain silent. (2021, March 31). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2021/03/30/global-pandemic-treaty-world-leaders-call-for-more-cooperation.html

9. 'I can't go on': women in Japan suffer isolation and despair amid Covid job losses. (2021, March 29). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2021/mar/29/i-cant-go-on-women-in-japan-suffer-isolation-and-despair-amid-covid-job-losses

10. IMF economist dismisses inflation concerns of Biden’s stimulus plan. (2021, February 21). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/685189/IMF-economist-dismisses-inflation-concerns-of-Bide

11. IMF projects China's economy to grow by 8.1% in 2021, with global growth of 5.5%. (2021, January 27). Global Times. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/14137370

12. IMF sharply ups 2021 growth outlook for S. Korea to 3.6 pct. (2021, March 26). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20210325009800320?section=market/economy

13. Powell says economy recovering but Fed support still needed. (2021, March 22). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/financial-services-jerome-powell-coronavirus-pandemic-economy-37b53514537d443a2662557e3a91724e

14. Singapore maintains 2021 GDP forecast as economy contracts 5.4% last year, less than advance estimates. (2021, February 15). Channel New Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-maintains-2021-gdp-forecast-economy-14199194

15. Suga appoints minister of loneliness as suicides surge. (2021, February 13). Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/14187206

16. UK unemployment rate dips to 5.0 percent: Official data. (2021, March 23). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/business/economy/2021/03/23/UK-unemployment-rate-dips-to-5-0-percent-Official-data

17. What if they gave a stimulus and nobody came?. (2021, March 23). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2021/03/what-if-they-gave-a-stimulus-and-nobody-came/

18. Yellen: Biden Stimulus Plan Could Bring U.S. To Full Employment By Next Year. (2021, February 7). The Huff Post. Retrieved from https://www.huffpost.com/entry/yellen-biden-stimulus-plan-full-employment_n_60201315c5b6d78d44476a26

--------------------------

ความคิดเห็น

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ
ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 แพ็กเกจตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ปรึกษาแพทย์ ส่วนลดค่ายา

ประกันภัยเบาหวาน Protect

ประกันภัยเบาหวาน Protect
สนใจคลิก

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ
ซื้อหรือสอบถามคลิกที่รูป