เพียง 5 เดือนที่โลกเผชิญโควิด-19
หลายส่วนของโลกกำลังถูก disrupt อีกหลายส่วนต้องปรับตัว การต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้เพิ่งจะเริ่มต้น
ภาพรวมยังระบาดหนัก การป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด
โรคที่เกิดจากเชื้อนี้เรียกสั้นๆ ว่าโควิด-19 (coronavirus disease
19: COVID-19) เชื่อกันว่าเริ่มติดต่อแพร่ระบาดสู่มนุษย์ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม
2019 จากนั้นวันที่ 11 มีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลกประกาศเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทั่วโลกอย่างเป็นทางการ
การแพร่ระบาด :
1. ในระยะแรกพุ่งความสนใจที่จีนกับประเทศใกล้เคียง
เนื่องจากเป็นไวรัสใหม่ยังไม่มีชื่อทางการจึงเกิดคำว่าไวรัสอู่ฮั่น
(Wuhan Virus) ไม่ถึงเดือนต่อมาประเทศอื่นเริ่มประกาศพบผู้ยืนยันติดเชื้อ
3 ประเทศที่พบก่อนคือ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ในช่วงนี้ถูกมองว่าเป็นโรคระบาดระดับภูมิภาคเท่านั้น
2. การแพร่ระบาดเริ่มกระจายตัว
เมื่อเข้ากุมภาพันธ์ อีกหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันตก
เริ่มเตือนการระบาดในประเทศของเขา
3. เริ่มระบาดหนักในสหรัฐและอีกหลายประเทศ
มีนาคม
นายกฯ แมร์เคิลกล่าวว่าในที่สุดคนเยอรมัน 60-70 เปอร์เซ็นต์จะติดโรคโควิด-19
ปลายเดือนมีนาประธานาธิบดีทรัมป์ขอให้คนอเมริกันเตรียมใจรับสถานการณ์
ทำเนียบขาวประเมินว่าจะมีผู้เสียชีวิต 100,000-240,000 ราย
4. สถานการณ์ล่าสุด
บางประเทศดีขึ้น บางประเทศทรงตัว บางประเทศแย่ลง
5 เดือนหลังพบโควิด-19
บางประเทศเช่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ไทย ควบคุมสถานการณ์ได้ดี บางประเทศทรงตัว บางประเทศยังย่ำแย่แม้ใช้มาตรการกักโรคแล้ว
บางประเทศกำลังระบาดหนัก
เช่น รัสเซียพบผู้ยืนยันติดเชื้อรายใหม่วันละเกินหมื่นคน
บราซิลกลายเป็นประเทศที่ยอดติดเชื้อสะสมเป็นลำดับ 3 แซงหน้าทุกประเทศอย่างเหลือเชื่อ
ภาพรวมระดับโลก
ยอดผู้ยืนยันติดเชื้อทะลุ 5 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือในรอบ 24 ชั่วโมงมีผู้ติดโรครายใหม่กว่า
1 แสนคน และจำนวน 2 ใน 3 มาจาก 4 ประเทศเท่านั้น
จากการวิเคราะห์เป็นไปได้ว่าก่อนสิ้นเดือนหน้า (มิถุนายน) ยอดผู้ยืนยันติดเชื้อสะสมทั่วโลกอาจทะลุ
9-10 ล้านคน เพิ่มจากยอดสะสมปัจจุบันอีก 80-100 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นในภาพรวมโควิด-19
ระบาดมากขึ้น ทั้งในบางประเทศที่ระบาดอยู่ก่อนแล้วกับประเทศที่เริ่มระบาดหนัก
ควรจับตาทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาและอนุภูมิภาคอินเดีย
จากความรู้ความเข้าใจในขณะนี้
โควิด-19 จะอยู่กับโลกอีกหลายปี เมืองที่ปลอดโรคแล้วอาจมีผู้ติดเชื้ออีก
ดังนั้นคำว่าปลอดโรคปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์จึงไม่น่าจะมีจริง
ในขณะที่จำต้องเปิดเมืองให้คนกลับไปทำงาน นักเรียนไปโรงเรียน
เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจทำงาน สังคมเดินหน้าต่อไป
วิกฤติโควิด-19 เป็นมากกว่าเรื่องสุขภาพ
:
เมื่อโควิด-19 ระบาดหนัก
มาตรการที่ต้องใช้คือการกักโรคในบริเวณกว้าง จึงต้องปิดเมืองปิดประเทศ ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจในพื้นที่ระบาดหยุดชะงักบางส่วน
กระทบเศรษฐกิจภาพรวม
หลายสถาบันทั้งภาครัฐกับเอกชนทยอยประเมินเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ข้อมูล
IHS Markit ล่าสุดประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์
เฉพาะสหรัฐจะหดตัว 7.3 เปอร์เซ็นต์ อียู 8.6 เปอร์เซ็นต์ การเปิดกิจการอีกครั้งจะช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงหนึ่งแต่ไม่นานจะกลับมาซบเซา
สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงของโลกยุคโควิด-19
ผลคือบริษัทจำนวนมากจะลดขนาดตัวเอง
กระทั่งประกาศปิดตัวหรือล้มละลาย
เมื่อคนตกงานเพิ่ม รายได้หด การซื้อกินซื้อใช้ย่อมลดลง เหล่านี้จะกลับไปกระทบผลประกอบการของบริษัทห้างร้านต่างๆ
เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ
Deutsche Bank
Wealth Management พูดในทำนองเดียวกันว่าอย่ามองโลกแง่ดีจนเกินควร
ที่คิดว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว แก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐ
ยุโรป และญี่ปุ่น ประเมินว่าจะต้องรอถึงปี 2022 (หรืออีก 2 ปี)
จึงมีโอกาสกลับสู่สภาพเดิม
ณ ตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยอมรับแล้วว่าเศรษฐกิจโลกไม่จะเป็น
V-shape
ไม่แปลกที่
เจโรม พาวล์ (Jerome Powell) ประธานเฟด พูดซ้ำหลายครั้งว่ารัฐบาลยังช่วยน้อยไป
ขอให้รัฐบาลทำทุกอย่างที่ทำได้ ยืนยันว่าใช้เงินทุกดอลลาร์อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
วัคซีน ยา การเปิดเมือง :
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าวัคซีนคือทางออกที่ดีที่สุด
นับจากเริ่มระบาดหลายสิบประเทศทั่วโลก บริษัทยาต่างๆ ล้วนมีโครงการวิจัยพัฒนายากับวัคซีน
องค์การอนามัยโลกแสดงบทบาทเป็นแกนนำเรื่องนี้
มีข่าวคืบหน้าของวัคซีนต่อเนื่องจากหลายประเทศ
แต่กว่าจะเป็นวัคซีนที่ใช้การได้จริงต้องใช้เวลา ต้องย้ำว่าไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
เพราะเป็นเรื่องของการทดลอง ความน่าจะเป็น (Probability) ที่แน่นอนคือโลกกำลังเร่งมือเต็มที่ “อาจ” ได้ใช้วัคซีนปีหน้า
พร้อมกับวิจัยวัคซีนคือพยายามหายารักษา
มี 2 แนวทางคือ ทดลองใช้ยาเดิมที่มีอยู่กับวิจัยยาใหม่ ยาร่วมร้อยตัวถูกนำมาทดลอง เป็นแนวคิดหาใช้ยาที่มีอยู่แล้วเพื่อร่นระยะเวลาวิจัย
มีบางตัวที่ส่อว่าจะใช้ได้
เช่น chloroquine กับ remdesivir จน FDA สหรัฐจะรับรองใช้ remdesivir รักษาโควิด-19 หลังพบว่ายาช่วยให้ผู้ติดเชื้อหายเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
(ผลวิจัยเบื้องต้นพบว่าจากป่วย 15 วันเหลือ 11 วัน) แต่ต้องย้ำว่าได้ผลเพียงร้อยละ
31 เท่านั้น อีกร้อยละ 69 ใช้ไม่ได้ผล รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตรียมรับรองยาดังกล่าวเช่นกัน
ควรสรุปว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มียาเก่าตัวใดที่ใช้ได้ผลดีจริง
อีกวิธีรักษาที่ทดลองอยู่คือใช้พลาสมาจากเลือดผู้ป่วยเพราะต้องการภูมิต้านทานโรคจากผู้ป่วยเดิม
hyperimmune globulin เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีความหวัง
บริษัทยากำลังเร่งวิจัย
การวิจัยหายาใหม่ต้องกินเวลาหลายปี
เป็นไปตามกระบวนการวิจัยพัฒนายาใหม่
ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนกับยาที่ได้ผลจริง
การกักโรคการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเป็นมาตรการที่ดีที่สุด หลายประเทศใช้ได้ผล
หลังปิดเมืองได้ 2-3 เดือน รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจคลายมาตรการปิดเมือง
ให้ธุรกิจร้านค้าเริ่มทยอยเปิดอีกครั้งภายใต้มาตรการควบคุม เป็นไปได้ว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเรียนรู้คือการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือไม่ใช่ทางออกที่ดีและอาจก่อปัญหาใหญ่ตามมา
จำต้องยอมเปิดเมืองให้ระบบเศรษฐกิจเดินเครื่องแม้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละนับร้อยนับพัน
เรื่องนี้พิสูจน์ว่าระบบเศรษฐกิจใหญ่เกินกว่าที่ภาครัฐจะเข้าโอบอุ้ม
ความจริงแล้วตั้งแต่เริ่มระบาดจนปัจจุบัน
รัฐบาลทุกประเทศเข้าช่วยเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น
การเปิดเมืองเป็นอีกเหตุผลว่าโรคระบาดนี้จะอยู่กับโลกอีกนาน
และอาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศด้วย
การแพร่ระบาดเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น :
ปลายเดือนเมษายน
นายกฯ แมร์เคิลกล่าวว่าการแพร่ระบาดเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
เราต้องอยู่กับไวรัสนี้อีกนาน
ตัวเลขผู้ยืนยันติดเชื้อล่าสุดเป็นหลักฐานว่าการระบาดระดับโลกไม่ได้ลดลงแต่รุนแรงขึ้น
เพียง 5 เดือนนับจากเชื้อโรคโควิด-19 ปรากฏตัว โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วรุนแรง
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จำต้องคิดใหม่ วางแผนใหม่ ปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์
เป็นความจริงที่สถานการณ์บางส่วนดีขึ้น บางส่วนย่ำแย่
แต่ต้องมองอีกมุมว่าในวิกฤตมีโอกาส ต้องไม่ปล่อยให้เวลานี้หลุดลอย
ต้องสร้างโอกาสใหม่แก่ตัวเองและสังคม
เพราะวิกฤตมักเป็นเหตุให้เกิดสิ่งดีๆ
ที่ยากจะเกิดในภาวะปกติ
จงฉวยโอกาส รีบเร่งรุดหน้าไป
24 พฤษภาคม 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8595 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โควิด-19 โอกาสและ Disruptor แห่งปี 2020
ไวรัสโควิด-19 กำลังเป็น Disruptor เขย่าโลกทุกมิติ ความสูญเสียร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิต คือความสูญเสียของนับแสนนับล้านครอบครัว และเป็นโอกาสหากเรียนรู้พัฒนาฟันฝ่าความท้าทายครั้งนี้
ยุทธศาสตร์ชนะโควิด-19 ด้วยการให้
ถ้าทุกคนแบ่งปันแก่กันและกัน ทุกคนจะได้และมีเพียงพอ การกักตุนหายไป รวมถึงความวิตกจริต จมอยู่ในความทุกข์โศก เพราะการ “ให้” เปลี่ยนโลกจากความวิตกกังวลสู่โลกที่ปรารถนาดีต่อกัน
1. Australia lab may have found
Covid-19 cure. (2020, March 18). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/03/australia-lab-to-human-test-reputed-covid-19-cure/
2. Coronavirus may hit 60-70% of
German population, Merkel says. (2020, March 11). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/world/europe/coronavirus-may-hit-60-70-of-german-population-merkel-says
3. Coronavirus
will make life hard for a long time, Angela Merkel says. (2020,
April 23). Deutsche Welle. Retrieved from
https://www.dw.com/en/coronavirus-will-make-life-hard-for-a-long-time-angela-merkel-says/a-53214848
4. Current
development of COVID-19 diagnostics, vaccines and therapeutics. (2020,
May 6). Science Direct. Retrieved from
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1286457920300794
5. Fed’s
Powell to urge Congress to ‘do everything’ it can to help those suffering amid
pandemic. (2020, May 18). MarketPlace.
Retrieved from
https://www.marketwatch.com/story/feds-powell-to-urge-congress-to-do-everything-it-can-to-help-those-suffering-amid-pandemic-2020-05-18?mod=home-page
6. FDA reportedly will approve
Covid-19 treatment remdesivir, which US-funded trial shows has 'positive
effect' on recovery. (2020, April 29). CNN.
Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/04/29/health/gilead-sciences-remdesivir-covid-19-treatment/index.html
7. First US case of Wuhan
coronavirus confirmed by CDC. (2020, January 21). CNN. Retrieved from
https://edition.cnn.com/2020/01/21/health/wuhan-coronavirus-first-us-case-cdc-bn/index.html
8. New coronavirus cases across the
world jump by the most ever in a single day, WHO says. (2020,
May 20). CNBC. Retrieved from
https://www.cnbc.com/2020/05/20/new-coronavirus-cases-across-the-world-jump-by-the-most-in-a-single-day-who-says.html
9. Reports: World economy faces
tough journey back from crisis. (2020, May 19). The Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/13384973
10. SARS-like virus spreads in
China, reaches third Asian country. (2020, January 20). The Jakarta Post.
Retrieved from
https://www.thejakartapost.com/news/2020/01/20/sars-like-virus-spreads-in-china-reaches-third-asian-country.html
11. Scientists identify 69 drugs
that may help fight Covid. (2020, March 26).
Tribune India.. Retrieved from
https://www.tribuneindia.com/news/scientists-identify-69-drugs-that-may-help-fight-covid-61546
12. White House predicts 100,000 to
240,000 will die in US from coronavirus. (2020, March 31). CNBC. Retrieved from
https://www.cnbc.com/2020/03/31/trump-says-the-coronavirus-surge-is-coming-its-going-to-be-a-very-very-painful-two-weeks.html
-----------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น