โรคซึมเศร้าจำต้องได้รับการรักษาทางแพทย์ การป้องกันไว้ก่อนดีกว่ารอป่วยค่อยรักษา
ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการซึมเศร้าที่นับวันจะเป็นกันมากขึ้น
สะท้อนสังคมที่กำลังป่วยทางจิตและต้องรีบเร่งแก้ไข
องค์กรภาคประชาชน Blue
Cross Blue Shield Association เสนอรายงานล่าสุดว่าชาวอเมริกันเป็นโรคซึมเศร้า
(major depression) มากขึ้น ในช่วงเวลา 3 ปี (2013-2016) พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ
33
ปัจจุบัน คนอเมริกันที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีกว่า
9 ล้านคน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มวัย ที่เพิ่มมากสุดคือกลุ่มวัยรุ่น (adolescent) เป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 ส่วนกลุ่ม millennials (หรือกลุ่ม Gen Me) เพิ่มขึ้นร้อยละ 47
มีข้อมูลว่าคน Gen
Me คือพวกที่เกิดช่วงปี 1980-2000 ปัจจุบันคือพวกที่มีอายุตั้งแต่
18-38 ปี (เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ถึงวัยกลางคน) คนพวกนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง
ยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง ในอเมริกาคนเหล่านี้มักจะมีการศึกษาค่อนข้างสูง ถนัดใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและมักเปลี่ยนงานบ่อย
ไม่ยึดติดกับสถานที่ทำงาน
ในภาพรวม
ผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าชายถึง 2 เท่า ในบรรดาโรคภัยทั้งหลาย จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ลำดับ
2 รองจากโรคความดันสูงเท่านั้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช
หล่อตระกูล อธิบายว่า “ถ้าพูดถึงเรื่องซึมเศร้าเรามักจะนึกกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง
หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามจริงแล้ว
ที่เราพบกันในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาๆ
ที่มีกันในชีวิตประจำวัน มากบ้างน้อยบ้าง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง
ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง
มีอาการต่างๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก
หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปก็อาจจะเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว”
“การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ
คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค
กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง
เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม”
“ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า
ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง
ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว”
การที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาจากหลายสาเหตุเช่นปัจจัยทางสังคม
อีกส่วนหนึ่งเพราะในระยะหลังวงการสาธารณสุขตื่นตัวเรื่องนี้ เพิ่มความสำคัญกับการตรวจคัดกรองว่าใครที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหรือไม่
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในความมืด
หลายคนเป็นแต่ไม่แสดงตัว ไม่ได้รับการรักษา ปัญหาที่ตามมา เช่น อัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้น
ข้อมูลจาก U.S. Centers for Disease Control and Prevention ระบุว่า
การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนวัย 10-34 ปี
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉลี่ยปีละ
10,000 ดอลลาร์ ในขณะที่คนปกติจะเสียเพียง 4,300 ดอลลาร์
เพราะผู้ป่วยซึมเศร้ามักเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เสมอ ร้อยละ 85
ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักพบโรคเรื้อรังร้ายแรงอย่างน้อยหนึ่งโรค
จะเห็นว่าโรคซึมเศร้ามักเกิดควบคู่กับโรคเรื้อรังร้ายแรง
นักวิชาการประเมินว่าการที่คนวัยรุ่นและวัย
Gen Me ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากจะส่งผลต่ออนาคตของประเทศ โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น
ในอนาคต
โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุสำคัญให้คนอายุสั้นลง
รายงานของ Blue
Cross Blue Shield Association ตอกย้ำข้อสรุปของกลุ่มอื่น เช่น Cigna ที่ระบุว่าคนอเมริกันจำนวนมากรู้สึกเหงา อ้างว้าง (lonely) American
Psychiatric Association รายงานว่าคนอเมริกันร้อยละ 40 เครียดกังวล
(anxious) มากกว่าปีก่อน
ในขณะที่สังคมอเมริกันมีคนป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอย่างน้อย
9 ล้านคน อีกจำนวนมากยังไม่ถึงขึ้นเป็นโรคแต่มักมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
เปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง ชีวิตอยู่อย่างไร้ความหวัง แม้ไม่เป็นโรคแต่อยู่ในภาวะเป็นทุกข์
จำต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน
สังคมป่วยมานาน :
สังคมอเมริกันมีปัญหาคนเป็นโรคซึมเศร้าหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าเครียดกังวลมานานแล้ว
บางคนกินยาคลายเครียด ดื่มเหล้า เสพยาเพราะปัญหาซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ฯลฯ
ความสำคัญของงานวิจัยไม่ใช่เพียงเรื่องจำนวนคนเจ็บป่วย
ผลจากการเจ็บป่วยเท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องรักษา ที่สำคัญกว่าคือการตระหนักและยอมรับว่า
“สังคมกำลังป่วยทางจิต”
หากประเทศยังมุ่งรักษาแต่โรคทางกาย (ซึ่งสำคัญ) ละเลยโรคทางจิตใจ การมีชีวิตคือความทุกข์สาหัสที่คงอยู่ไม่จบสิ้น เป็นเหตุผลที่ยาคลายเครียด ยานอนหลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หลายคนอาศัยเหล้าเบียร์บรรเทาทุกข์ในใจอย่างน้อยช่วยให้หลายเครียดสักคืนก็ยังดี
ร้ายแรงกว่านั้นคือเสพยา สังคมอเมริกันมียาเสพติดทุกชนิดในโลก เป็น “สังคมติดยา”
แต่ รัฐบาลไม่ค่อยเอ่ยเรื่องทำนองนี้ มัวแต่พูดเรื่องอื่นๆ
ที่บางเรื่องกระตุ้นให้คนซึมเศร้าวิตกกังวลยิ่งขึ้น
ความสำเร็จของชาติ
ไม่ใช่เพียงอยู่รอดปลอดภัย คนมีกินมีใช้ แต่ต้องมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย จะมีประโยชน์เพียงไรหากยังมีชีวิต
อิ่มท้อง แต่ทุกข์ใจ ดำเนินชีวิตแต่ละวันด้วยความเหงา อ้างว้าง บางรายวิตกกังวล เครียด
เห็นว่าชีวิตไร้ความหมาย เป็นคนไร้ค่า
การรักษาประเทศให้ปลอดภัย
คนมีกินมีใช้ก็เพื่อ “ความสุข” ไม่ใช่หรือ คำว่า “อยู่ดีมีสุข” (Well-being) จะต้องวัดผลที่ความสุขใจด้วย
ถ้าจะปฏิรูปประเทศ เป้าหมายการปฏิรูปจะต้องสร้างความ “สุขใจ” ควบคู่กับ “”สุขกาย”
ให้ประชาชน “สุขกายสบายใจ”
พรรคการเมือง นักการเมืองที่มุ่งให้ประชาชน “สุขกายสบายใจ” จึงควรสนับสนุนอย่างยิ่ง
ดีกว่าพูดถึงแต่จีดีพี (GDP) ตัวเลขส่งออกโตเท่านั้นเท่านี้
แต่ทำไมคนจำนวนมากยังยากจน ทุกข์ใจ
ดูแลครอบครัว ฉีดวัคซีนป้องกันป่วยทางจิต :
ความจริงที่ควรตระหนักคือ
ถ้าคนหนึ่งในครอบครัวเจ็บป่วยจะกระทบทุกคนในบ้าน เกิดภาระค่ารักษาพยาบาล อาจต้องมีคนเสียสละแบ่งเวลาดูแลผู้ป่วย
ปัจจุบัน
เรามีวัคซีนป้องกันโรค เด็กๆ ได้รับการฉีดวัคซีนสารพัดโรค ที่ควรตระหนักและสำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างภูมิคุ้มกันโรคป่วยทางจิต
พ่อแม่ผู้ปกครองคือบุคคลสำคัญที่ต้องทำหน้าที่นี้
เริ่มจากการที่ท่านไม่เป็นผู้ป่วยทางจิต ไม่เป็นเหตุทำร้ายคนในบ้านเพราะท่านป่วย
หากท่านแสดงอาการป่วยออกมาพลอยทำให้ทุกคนในบ้านมีปัญหาไปด้วย
พ่อแม่ที่สุขภาพจิตสมบูรณ์จึงสามารถนำพาครอบครัวให้
“สุขกายสบายใจ”
หากคิดว่าปากท้องสำคัญ
ต้องนำพาทุกคนในครอบครัวให้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย
จะมีประโยชน์อย่างไรที่เลี้ยงลูกให้โตแต่ขาดความรักความอบอุ่น สุดท้ายเด็กหลายคนกลายเป็นคนเกเร
เสียอนาคต เป็นปัญหาสังคม
เหตุผลที่เด็กหลายคนมีปัญหาซึมเศร้ารู้สึกตนไร้ค่าก็ด้วยผลจากครอบครัวโดยตรง
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอดส่องลูกหลานตนเอง
ให้ความรักความอบอุ่นแก่สมาชิกในครอบครัว เพราะ “ความรักความอบอุ่นคืออาหารทางใจ” ที่ไม่อาจทดแทนได้ด้วยข้าว-เนื้อ-ผัก
ของเล่น
วันนี้ท่านได้รับวัคซีนหรือยัง :
ถ้าป่วยเป็นโรคจำต้องรักษาทางการแพทย์
ในอีกด้านหนึ่งควรให้ความสำคัญกับการป้องกัน ดังประโยคที่ว่า
“กันไว้ย่อมดีกว่าแก้”
วัคซีนป้องกันโรคทางกายมักอยู่ได้หลายปี
แต่วัคซีนป้องกันทางใจอาจไม่คงทนเช่นนั้น ปัจจุบันมีผู้แนะนำหลายวิธีที่จะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น
บางวิธีได้ผลมากบางวิธีน้อย บางวิธีต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง บางวิธีเพียงแค่เดินเล่น
นอนหลับพักผ่อน รวมความแล้ว แต่ละคนจะต้องเสาะหาวิธีที่ได้ผลกับตัวเองมากที่สุด
เปิดใจกว้างเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ขอคำปรึกษารับคำแนะนำจากผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ
วัคซีนป้องกันโรคทางใจมักต้องอาศัยความต่อเนื่อง
บางคนอาจไปท่องเที่ยว อ่านหนังสือ เดินเล่น นอน แสวงหาสัจธรรมชีวิต แบ่งเวลาทำประโยชน์เพื่อสังคม
มีจิตสาธารณะ พาตัวเองออกจากกรอบเดิม ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด คำถามคือวันนี้ท่านได้รับวัคซีนอีกครั้งหรือไม่
สุขภาพจิตของท่านยังดีอยู่หรือไม่
หากเราให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตจะไม่หยุดแสวงหาวิธีที่ดีที่สุด
และกินอาหารบำรุงสุขภาพจิตไม่ขาดเหมือนกินข้าวเลย
ไม่ว่าจะในกรอบประเทศชาติ ครอบครัวหรือปัจเจก สุขภาพจิตสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย
13 พฤษภาคม
2018
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7855 วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2561)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7855 วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2561)
---------------------------
บรรณานุกรม :
1. นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล. (2018). โรคซึมเศร้าโดยละเอียด. Retrieved from https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
2. Blue Cross Blue Shield. (2018, May
10). Major Depression: The Impact on Overall Health. Retrieved from https://www.bcbs.com/the-health-of-america/reports/major-depression-the-impact-overall-health?utm_source=bcbscom&utm_medium=home&utm_content=&utm_campaign=hoa-DepRep
3. DeBattista, Charles., Eisendrath, Stuart J., Lichtmacher,
Jonathan E. (2015). Psychiatric Disorders. CURRENT Medical Diagnosis and
Treatment 2015 (54th ed.). USA: McGraw-Hill Education.
4. Depression among teens, millennials on
the rise, Blue Cross Blue Shield study finds. (2018, May 10). The Inquirer.
Retrieved from http://www.philly.com/philly/health/kids-families/depression-among-teens-millennials-on-the-rise-blue-cross-blue-shield-study-finds-20180510.html
5. Depression Has Spiked By 33% In the
Last Five Years, a New Report Says. (2018, May 10). Time. Retrieved from
http://time.com/5271244/major-depression-diagnosis-spike/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น