กรมสาธารณสุขแคลิฟอร์เนีย
(California Department of Public Health :CDPH) เตือนอันตรายจากโทรศัพท์มือถือ
ขอให้ประชาชนลดการใช้โทรศัพท์มือถือและพยายามให้อยู่ไกลตัว แม้ว่ายังต้องศึกษาวิจัยต่อไป
แต่บุคลากรสาธารณสุขหลายท่านได้ออกโรงเตือนอันตรายจากการใช้คุยกันนานๆ
มีข้อสงสัยว่าโทรศัพท์มือถือเสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งหรือไม่
ทำให้เป็นหมัน (ลดการผลิตสเปิร์ม สเปิร์มไม่แข็งแรง) ปวดศีรษะ เรียนรู้ช้า ความจำเสีย
หูหนวก นอนไม่หลับ
แม้ว่าข้อสงสัยเหล่านี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
แต่เสียงเตือนให้ระวังดังขึ้นเรื่อยๆ การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า
ความเข้าใจในอดีต :
มีผู้สงสัยมานานแล้วว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือและจากเสาส่งสัญญาณเป็นอันตรายหรือไม่
ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐหลายแห่งชี้แจงว่าไม่เป็นอันตรายแต่อย่างไร
นักวิชาการบางท่านอธิบายว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มชนิดไม่ก่อไอออน
(Non-ionizing radiation) อะตอมไม่แตกตัวเป็นไอออน ได้แก่
ย่านความถี่ใช้งานของโทรศัพท์มือถือและความถี่คลื่นวิทยุกระจายเสียง สัญญาณ Wi-Fi
จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีผลเชิงความร้อนเท่านั้น
ส่วนความกังวลต่อสุขภาพต่างๆ
นานานั้นงานวิจัยยังไม่สามารถสรุปชัดว่าเป็นเพราะคลื่นจากโทรศัพท์มือถือหรือไม่
แต่หากกลัวมีผลต่อสุขภาพให้เก็บเครื่องห่างจากร่างกายอย่างน้อย 20 เซนติเมตร หลีกเลี่ยงการใช้ในที่อับสัญญาณ (สัญญาณอ่อน)
ข้อมูลล่าสุด :
กลางเดือนธันวาคม กรมสาธารณสุขแคลิฟอร์เนีย
(California Department of Public Health :CDPH) เตือนให้ห่างจากโทรศัพท์มือถือ
เพื่อห่างจากคลื่นวิทยุ (radio frequency: RF) ที่แผ่ออกจากโทรศัพท์
เหตุที่ต้องเตือนเพราะคนอเมริกันร้อยละ 95 มีโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 12
ใช้สมาร์ทโฟนเป็นช่องทางสื่อสารออนไลน์ เด็กเริ่มใช้เมื่ออายุ 10 ขวบ
คนหนุ่มสาวมักพกหรือวางโทรศัพท์ใกล้ตัวทั้งกลางวันกลางคืน
คาเรน สมิท (Karen Smith) ผู้อำนวยการ
CDPH เกรงว่าคลื่นโทรศัพท์อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตการพัฒนาของสมองในวัยเด็กกับวัยรุ่น
โจเอล มอสโควิซ (Joel Moskowitz) จาก UC
Berkeley อธิบายว่าบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือต้องการให้ผู้ใช้วางโทรศัพท์ห่างจากร่างกาย
การวางใกล้ตัวเท่ากับละเมิดมาตรการความปลอดภัย
และชี้ว่าหน่วยงานรัฐทั้งหลายมักตามงานวิจัยไม่ค่อยทัน
งานวิจัยใหม่ๆ หลายชิ้นให้ข้อสรุปว่ารังสีที่ออกจากโทรศัพท์มือถือเสี่ยงก่ออันตรายต่อสุขภาพ
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร :
คำแนะนำจาก
CDPH
1. ลดการใช้ให้มากที่สุด และวางโทรศัพท์ให้ไกลจากตัวมากที่สุด
ดีที่สุดคือไม่ใช้
แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรให้โทรศัพท์อยู่ห่างตัว เช่น เมื่อจะโทรหรือรับสายพยายามใช้หูฟัง
ยิ่งเป็นพวกไร้สายยิ่งดี (Wireless/Bluetooth) ใช้วิธีส่งข้อความแทนการพูดคุย
ถ้าใช้เครื่องดาวโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ควรวางเครื่องให้ไกลตัว
ไม่เก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ
เหน็บไว้กับชุดชั้นในหรือเข็มขัด ควรเก็บในเป้หรือกระเป๋าหิ้วจะดีกว่า เหตุเพราะเวลาเก็บในที่เหล่านั้น
เครื่องจะส่งคลื่นวิทยุแรงกว่าปกติเพราะต้องการรักษาสัญญาณติดต่อ
2. หลีกเลี่ยงไม่ใช้สถานการณ์ที่เครื่องต้องปล่อยคลื่นแรงกว่าปกติ
2. หลีกเลี่ยงไม่ใช้สถานการณ์ที่เครื่องต้องปล่อยคลื่นแรงกว่าปกติ
สถานการณ์เหล่านี้เช่น ไปอยู่ในจุดที่สัญญาณอ่อนหรืออับสัญญาณ ถ้าสัญญาณมีเพียงหนึ่งหรือ
2 ขีดคือจุดที่สัญญาณอ่อน เวลาที่รถวิ่งเร็ว การใช้ฟังเพลงดูวีดีโอออนไลน์ หรือดาวโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ก็เช่นกัน
สถานการณ์เหล่านี้โทรศัพท์จะปล่อยคลื่นแรงกว่าปกติเพื่อคงสัญญาณให้ต่อเนื่อง
ถ้าเป็นไปได้ควรดาวโหลดเพลงหรือภาพยนตร์เก็บไว้ในเครื่องก่อน จากนั้นดูโดยตั้งค่าเครื่องให้เป็นairplane
mode
3.
วางโทรศัพท์ให้ไกลจากเตียงนอน
อย่านอนโดยวางโทรศัพท์ไว้ข้างๆ
ควรวางให้ห่างอย่างน้อย 2-3 ฟุต
4. ถอดหูฟังหากไม่มีการโทรหรือรับสาย
แม้ว่าหูฟังจะปล่อยคลื่นรังสีน้อยกว่า
แต่ยังปล่อยคลื่นอยู่ดี จึงแนะนำให้ถอดออกหากไม่ใช้งาน
5.หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถกันคลื่น
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำให้เราสัมผัสคลื่นแรงกว่าเก่า
เพราะเครื่องพยายามรักษาสัญญาณไม่ให้หลุดนั่นเอง
CDPH ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมองในวัยเด็กกับวัยรุ่น
อีกทั้งเป็นวัยที่มักใช้สมาร์ทโฟนทั้งวันทั้งคืน
จึงแนะนำผู้ปกครองให้จำกัดการใช้ของลูก
คำแนะนำข้างต้นตรงกับคำแนะนำจากกรมสาธารณสุขคอนเนตทิคัต
(Connecticut Department of Public Health) ที่ออกตั้งแต่พฤษภาคม
2015 (เข้าใจว่าเป็นไปตามกฎหมายอเมริกาที่แต่ละรัฐจะออกคำเตือนเหล่านี้
หากไม่มีคำเตือนจากส่วนกลาง)
สรุป :
ทางที่ดีและง่ายที่สุดคือลดการใช้สมาร์ทโฟน ใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น หากจะดูหนังฟังเพลงควรใช้คอมพิวเตอร์
ในกรณีเด็กกับเยาวชนควรจำกัดเวลา และมีหลายข้อที่ทำได้ทันทีเช่นวางโทรศัพท์ให้ไกลตัว
ไม่วางข้างเตียง
รู้เช่นนี้แล้ว
ข้อใดทำได้ควรรีบปฏิบัติตามทันที แม้ในทางวิชาการยังถกเถียงกันอยู่ก็ตาม การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า
16 ธันวาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------
บรรณานุกรม :
1. ผู้เชี่ยวชาญชี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์ไม่อันตราย
แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ. (2015, กันยายน
15). ไทยพับลิก้า. Retrieved from https://thaipublica.org/2015/09/electromagnetic-wave/
2. สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
(2015, กันยายน 15). คลื่นแม่เหล็กเสามือถือไม่อันตราย
กสทช.-สมาคมการแพทย์ไทย ยกข้อมูลชี้แจง-แค่วิตกไปเอง. Retrieved from goo.gl/HezzzE
3. California Department of Public Health. (2017, December
13). CDPH Issues Guidelines on How to Reduce Exposure to Radio Frequency Energy
from Cell Phones. Retrieved from https://www.cdph.ca.gov/Programs/OPA/Pages/NR17-086.aspx
4. California Department of Public Health. (2017, December).
How to Reduce Exposure to Radiofrequency Energy from Cell Phones. Retrieved
from https://www.cdph.ca.gov/Programs/CCDPHP/DEODC/EHIB/CDPH%20Document%20Library/Cell-Phone-Guidance.pdf
5. Don’t keep cell phones next to your body, California
Health Department warns. (2017, December 13). techcrunch.com. Retrieved from https://techcrunch.com/2017/12/15/dont-keep-cell-phones-next-to-your-body-california-health-department-warns/
-----------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น