ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์กับพลังงานแสงอาทิตย์

โลกอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนระบบพลังงาน :
            ในอดีตโลกบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานหลัก เคยเป็นยุคทองของโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) ต่อมาการใช้ก๊าซธรรมชาติสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบพลังงานอยู่ระยะหนึ่ง แต่ระบบพลังงานโลกไม่หยุดอยู่เท่านี้ พลังงานทางเลือกหลายตัวกำลังก้าวขึ้นมา นำโลกสู่ยุคการปรับเปลี่ยนระบบพลังงานอีกครั้ง
            ปัจจัยตัดสินสำคัญคือ การลงทุนเพื่อค้นหาและขุดเจาะน้ำมันจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะทรงตัวหรือจะถดถอย นักวิชาการคิดว่าหากกำลังการผลิตลดลง ต้นทุนการกลั่นจะสูงขึ้น ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ยิ่งแข่งขันกับพลังงานอื่นๆ ไม่ได้
            การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น แพร่หลายมากขึ้น เป็นอีกประเด็นที่ต้องเอ่ยถึง เพราะส่งผลต่อตลาดพลังงานอื่นๆ ครั้งหนึ่งถ่านหินคือเจ้าแห่งพลังงาน ต่อมาเป็นน้ำมัน จากนี้ไปไฟฟ้าคือเจ้าแห่งพลังงาน

            พลังงานไฟฟ้ามีจุดเด่นคือสามารถผลิตจากพลังงานอื่นๆ แทบทุกชนิด เท่ากับเป็นพลังงานที่ใช้ไม่มีวันหมด (ต่างจากน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน ยูเรเนียมที่มีวันหมด) การใช้แพร่หลายมากขึ้นทั้งระดับครัวเรือนกับอุตสาหกรรม และที่กำลังจะส่งผลต่อตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงคือรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หลายประเทศให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะจีน ยุโรปตะวันตก บรรษัทผู้ผลิตรถรายใหญ่หลายรายมีนโยบายผลิตรถไฟฟ้าอย่างจริงจัง
            ความก้าวหน้าของพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้โซล่าเซลล์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของพลังงานแสงอาทิตย์กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอนาคตทุกอาคารทุกครัวเรือนจะผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง

ปัญหาเดิมของพลังงานแสงอาทิตย์ :
            เป็นที่ทราบกันว่าปัญหาดั้งเดิมของพลังงานแสงอาทิตย์คือต้นทุนสูง ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แม้ราคาจะลดลงบ้างแต่ยังสู้ราคาพลังงานอื่นไม่ได้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าในอดีตจึงพบเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่การติดตั้งระบบสายไฟฟ้าใช้ทุนสูงมากจนการใช้โซลาร์เซลล์ประหยัดกว่า
            เรื่องแสงแดดมีน้อยหรือไม่มีเป็นเวลานาน เช่น เป็นฤดูฝน ท้องฟ้ามีเมฆบังเกือบตลอดเวลา เป็นอีกอุปสรรคที่พบบ่อย ดังนั้นพลังงานแสงอาทิตย์จึงมักเป็นระบบเสริม ต้องใช้ร่วมกับแหล่งพลังงานหลักอื่นๆ ต้องติดตั้ง 2 ระบบพลังงาน สร้างปัญหาเรื่องต้นทุนโดยเฉพาะเมื่อแรกเริ่มติดตั้งระบบ
            แต่ปัญหาเรื่องความคุ้มค่ากำลังค่อยๆ หมดไป นับวันต้นทุนถูกลงและจะยิ่งมากขึ้นในอนาคต

“The Project
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นประเทศไม่ใหญ่มาก มีประชากร 6 ล้านคน (ข้อมูล 2016) คนทั่วไปมีฐานะดี มีรายได้สูงกว่ากลุ่มประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้ว ด้วยเหตุผลหลักคือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ
            แต่ความเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกำลังเปลี่ยนไป เมือง Sweihanไม่ไกลจากกรุงอาบูดาบี กำลังก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดของโลก โครงการนี้ชื่อ “The Project” มีกำลังผลิต 1.2 gigawattsใช้งบประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์ ขนาดพื้นที่ราว 4 เท่ากับของใจกลางเมือง

            ต้นคิดโครงการคือนายมาร์ค เจคอบสัน (Mark Jacobson) ที่คิดว่าเมื่อถึงปี 2050 สหรัฐกับประเทศต่างๆ จะพากันผลิตพลังงานของตัวเอง เป็นพลังงานหมุนเวียน ( Renewable Energy) เช่น ลม แสงแดดและน้ำ เป็นระบบพลังงานที่ราคาถูกกว่าเดิม และเป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด
            เจคอบสันเห็นว่าเมื่อถึงเวลานั้นเครื่องจักรทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้าจะเป็นตัวเด่นที่สุด เครื่องบินจะใช้พลังงานไฮโดรเจน เมื่อถึงยุคนั้นจะไม่มีกลุ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อน ปัญหาจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์

            โครงการ "The Project" เป็นของรัฐ ภายใต้การกำกับของหน่วยงานหลัก The Abu Dhabi Water and Electricity Authority (ADWEA) ให้บริษัทเอกชนทั่วโลกเข้ามาแข่งขันออกแบบและร่วมก่อสร้างโครงการ รวมถึงการบริการจัดการในอนาคต
            "The Project" เป็นชื่อโครงการใหญ่ ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ จำนวนมาก เป้าหมายหลักคือ ต้องการให้ประเทศใช้พลังงานหลากหลาย ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่พึ่งพาพลังงานน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติอีกต่อไป
            นี่คืออีกโครงการยักษ์ใหญ่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แก่ประเทศนี้

            ดูไบ (Dubai) เป็นอีกเมืองที่โดดเด่น บ้านเรือนอาคารต่างๆ หันมาติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา ด้วยการสนับสนุนจากรัฐ รัฐบาลจูงใจโดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงจนคุ้มค่าการลงทุน แผนนี้เริ่มปี 2015 ตั้งเป้าว่าก่อนสิ้นปี 2030 ทุกหลังคาจะมีแผงโซล่าเซลล์ อีกทั้งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเชื่อมต่อกันทั้งเมือง กำลังไฟส่วนเกินไม่สูญเปล่า ระบบจะคำนวณเครดิตให้
            เฉพาะเมืองดูไบ ตั้งเป้าว่าก่อนสิ้นปี 2030 ร้อยละ 25 ของพลังงานที่ใช้จะเป็นพลังงานสะอาด และเมื่อถึงปี 2050 ร้อยละ 75 จะเป็นพลังงานสะอาด

            ทั้งหมดนี้ เพราะรัฐบาล UAE ตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในอนาคตจะลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รายงาน UAE State of Energy Report 2017 ระบุว่าก่อนสิ้นปี 2021 ร้อยละ 27 ของพลังงานที่ผลิตทั้งประเทศจะเป็นพลังงานสะอาด และเป็นร้อยละ 50 เมื่อถึงปี 2050 ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 70

            ย้อนหลัง 3 ทศวรรษก่อน โลกอาศัยพลังงานฟอสซิล (fossil fuels) เป็นหลัก อันประกอบด้วย น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เสริมด้วยพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน ปีที่แล้ว (2016) พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานของโลกถึงร้อยละ 10 (ในจำนวนนี้ร้อยละ 7 เป็นพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน) จากนี้อีก 3 ทศวรรษ ระบบพลังงานจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลังงานฟอสซิลกับนิวเคลียร์จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะมีที่ใช้น้อยมาก
            รัฐบาล UAE สนใจพลังงานแสงอาทิตย์เพราะประเทศในคาบสมุทรอาหรับมีศักยภาพสูงมาก มีอุปสงค์สูง คนต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศในตอนกลางวัน ตรงข้ามกับกลุ่มยุโรปที่อากาศหนาว ต้องการไฟฟ้าเพื่อปรับอุณหภูมิในยามค่ำคืน
            นอกจากนี้ ยังคิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์กลั่นน้ำ น้ำดื่มที่หายากมีราคาแพงในแถบนี้

            UAE เริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจังเมื่อปี 2013 นี้เอง เมื่อดูจากเป้าหมายและโครงการที่กำลังก่อสร้างบ่งชี้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญสูงมาก ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังเป็นพลังงานหลักอีกตัวหนึ่ง ทั้งๆ ที่ประเทศนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ พึ่งพาการส่งออกนี้เป็นรายได้หลักของประเทศ เป็นอีกหลักฐานว่าระบบพลังงานโลกกำลังเปลี่ยนแปลง

            ถ้ามองในระดับโลก อนาคตจะเป็นระบบ “global grid” เข้าใจง่ายๆ ว่าสายไฟฟ้าของประเทศต่างๆ จะเชื่อมโยงกัน บริหารจัดการโดยกลไกตลาดเสรี ทุกประเทศมีโอกาสซื้อหรือขายไฟฟ้า ตลาดพลังงานไฟฟ้าจะกลายเป็นตลาดระดับโลก ลงทุนโดยนักลงทุนนานาชาติ ทุกวันนี้จะเห็นการเชื่อมต่อระบบพลังงานระหว่างประเทศ ภายในภูมิภาค ที่สุดแล้วจะเป็นการเชื่อมต่อทั้งโลก

ลดต้นทุนและความยั่งยืน :
รัฐบาล UAE บรรยายว่าโครงการ “The Project” ของตนเป็นโครงการที่ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนต่ำสุดในขณะนี้ นั่นหมายความว่าสามารถขายให้ประชาชนในราคาถูกที่สุด รัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดค่าครองชีพ ลดหนี้สิน ลดต้นทุนแก่สังคมโดยรวม เพิ่มศักยภาพความสามารถแข่งขันแก่ทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเอกชนหรือราชการ

คนในยุคนี้ส่วนใหญ่ยังผูกพันกับท้องถิ่น ชาติ อาจไม่ตระหนักว่ามีการแข่งขันระดับโลก แม้กระทั่งพลังงานไฟฟ้า ในอนาคตทุกประเทศ ทุกบริษัทจะแข่งกันว่าใครผลิตได้ถูกกว่า การปกป้องจากภาครัฐอาจทำไม่ได้มากดังเช่นอดีต
            โครงการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นแบบอย่างที่ดี ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีกันว่าพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนกำลังก้าวขึ้นมาทดแทนพลังงานฟอสซิลอย่างรวดเร็ว เพราะต้นทุนต่ำลงมาก ใช้ง่ายไม่ซับซ้อน แม้กระทั่งประเทศส่งออกน้ำมันอย่าง UAE ยังยอมรับ ที่น่าชมเชยคือ รัฐบาล UAE ไม่นิ่งเฉย ไม่รอให้เกิดปัญหาก่อนจึงแก้ไข เพียงแค่คิดได้ว่าจะเป็นปัญหาก็ลงมือปรับปรุงประเทศทันที และทำอย่างจริงจัง

            การปรับเปลี่ยนระบบพลังงานเป็นตัวอย่างหนึ่ง ถ้ามองภาพกว้างกว่านี้ รัฐบาล UAE ไม่คิดพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพยายามพัฒนาทุกด้าน สร้างโอกาสใหม่ๆ เช่น พัฒนาเมืองสู่ความทันสมัยระดับโลก หวังเป็นศูนย์กลางการค้าโลก ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เศรษฐกิจปัจจุบันจึงหลากหลายกว่าเดิมอย่างชัดเจน
สิ่งที่ลงทุนในวันนี้ย่อมได้เก็บเกี่ยวในวันข้างหน้า ถ้าเลือกลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ย่อมเก็บเกี่ยวผลดีในอนาคต และจะเห็นผลชัดถ้าลงมือทำไม่ปล่อยให้สายเกินแก้
            นี่คือแนวทางแห่งความยั่งยืน เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและพลเมืองทุกคน
3 กันยายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7604 วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ.2560)
-----------------------------
บรรณานุกรม:
1. Abu Dhabi Water & Electricity Authority (ADWEA). (2016, April 26). Press Release. Retrieved from http://www.adwea.ae/en/home.aspx#
2. Central Intelligence Agency.(2016). United Arab Emirates.In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ae.html
3. Goldthau, Andreas (Ed.). (2013).The Handbook of Global Energy Policy. UK: John Wiley & Sons Ltd.
4. Power systems based on 100% renewables is nor feasible or realistic. (2017, July 17). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/business/energy/power-systems-based-on-100-renewables-is-nor-feasible-or-realistic-1.609517
5. Schlager, Neil. Weisblatt, Jayne. (Ed.). (2006). Alternative Energy. USA: Thomson Gale.
6. Solar rooftops in Dubai double in less than a year. (2017, July 17). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/business/property/solar-rooftops-in-dubai-double-in-less-than-a-year-1.622312
7. United Arab Emirates Ministry of Energy. (2017). UAE State of Energy Report 2017.Retrieved from http://dcce.ae/uae-state-of-energy-report-2017/
-----------------------------

ความคิดเห็น

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ
ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 แพ็กเกจตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ปรึกษาแพทย์ ส่วนลดค่ายา

ประกันภัยเบาหวาน Protect

ประกันภัยเบาหวาน Protect
สนใจคลิก

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ
ซื้อหรือสอบถามคลิกที่รูป