นักวิจัยจีนค้นพบวิธีดัดแปลงพันธุกรรมข้าวก่ำ (Purple Rice) หรือข้าวเหนียวดำ ให้อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งและอีกหลายโรค
ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้มีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanins) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก สารชนิดนี้พบได้ในผักผลไม้อื่นๆ
หลายชนิด จะมีสีม่วง แดง หรือฟ้า
การรับประทานข้าวที่อุดมด้วยแอนโทไซยานินจะลดโอกาสการเป็นมะเร็ง
โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ
เหตุที่ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้มีสารต้านอนุมูลฯ
จำนวนมากเพราะนักวิจัยใส่ยีน (gene) 8
ตัวที่จำเป็นต่อการผลิตสารต้านอนุมูลฯ ลงในพันธุ์ข้าวที่เลือกไว้
ตั้งแต่โบราณมนุษย์ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเรื่อยมา
ในอดีตเน้นให้ได้เม็ดข้าวใหญ่ มีกลิ่นหอม รสชาติดี ต้นข้าวต้านทานโรค
บางพันธุ์ปลูกได้ในที่มีน้ำน้อย บางพันธุ์ปลูกได้ในที่มีน้ำมาก
นักวิจัยจีนชุดนี้เน้นอีกด้าน
คือ ด้านการป้องกันหรือรักษาโรคมนุษย์
เป็นเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองอย่างสูงในยุคที่คนอายุยืนยาว
และประสบปัญหาโรคเรื้อรัง
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลผลไม้หลายอย่างให้มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้นด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรม
เช่น ข้าวโพดที่อุดมด้วยโปรวิตามิน A ถั่วที่มีธาตุเหล็กสูง
และอีกหลายอย่าง รวมทั้งมะเขือเทศสีม่วง (Purple Tomatoes) ที่อุดมด้วยสารแอนโทไซยานิน (anthocyanins) ชนิดนี้
อันที่จริงมนุษย์รู้มานานแล้วว่าสารแอนโทไซยานินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
เช่นเดียวกับประโยชน์ของวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ และเริ่มรู้ว่ายีนใดจำเป็นต่อการสร้างสารเหล่านี้
ปัญหาคือจะตัดต่อพันธุกรรมอย่างไร จะปลูกถ่ายยีนเข้าไปในเซลพืชอย่างไร เป็นโจทย์ที่นักวิทยาศาสตร์
นักวิจัยขบคิด พยายามเรื่อยมา ต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูง
รวมทั้งทุนวิจัย
กรณีข้าวก่ำหรือข้าวเหนียวดำเป็นความสำเร็จล่าสุด
ในอนาคตเราจะเห็นผักผลไม้อีกหลายชนิดที่มีคุณค่ามากกว่าเดิม
รวมถึงรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนจากเดิม เช่น มะเขือเทศสีม่วง
ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น
พร้อมสุขภาพที่แข็งแรงกว่าเดิม
ระหว่างที่กำลังรอข้าวสารพันธุ์ใหม่ของจีน
เราสามารถกินอาหารที่มีแอนโทไซยานิน เช่น มันเทศสีม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว
ชมพู่แดง ลูกหว้า ข้าวแดง ข้าวนิล ข้าวเหนียวดำ ถั่วแดง
ถั่วดำ หอมแดง ดอกอัญชัน น้ำว่าน-กาบหอย เผือก
หอมหัวใหญ่สีม่วง มะเขือม่วง พริกแดง องุ่นแดง-ม่วง
แอปเปิลแดง ลูกไหน ลูกพรุน ลูกเกด ลูกหม่อน (มัลเบอรี่)
บลูเบอรี่ เชอรี่ แบล็กเบอรี่ ราสเบอรี่ สตรอเบอรี่
5 กรกฎาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์,ดร., นิธิยา
รัตนาปนนท์,ดร. (2017). anthocyanin / แอนโทไซยานิน.
Retrieved from
http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1103/anthocyanin-%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%99
2. Chinese researchers create antioxidant-rich purple rice
to combat cancer, other diseases. (2017, July 2). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/2017-07/03/c_136411691.htm
3. Zhu Qinlong., Yu Suize., Zeng Dongchang., Liu Hongmei.,
Wang Huicong., Yang Zhongfang., … Liu
Yao-Guang. (2017). Development of “Purple Endosperm Rice” by Engineering
Anthocyanin Biosynthesis in the Endosperm with a High-Efficiency Transgene
Stacking System. Retrieved from
http://www.cell.com/molecular-plant/fulltext/S1674-2052(17)30140-5?_returnURL=http%3A%2F%2Flinkinghub.elsevier.com%2Fretrieve%2Fpii%2FS1674205217301405%3Fshowall%3Dtrue
-----------------------------