“เศรษฐกิจกรีกเหมือนเรือที่กำลังจม” “ประเทศกรีซเสื่อมโทรมเพราะคอร์รัปชัน ... เป็นต้นเหตุสำคัญของความฉิบหายทางเศรษฐกิจ”
วิกฤตเศรษฐกิจกรีกเริ่มต้นเมื่อปลายปี
2009 รัฐบาลต้องเข้าโครงการรับความช่วยเหลือจาก ‘ทรอยกา’ (Troika คือ 3
องค์กรที่ร่วมกันดูแลปฏิรูปเศรษฐกิจกรีซ ได้แก่ คณะกรรมาธิการยุโรป (European
Commission) ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund :
IMF) พร้อมกับมาตรการรัดเข็มขัดตามแนวทางของ IMF ด้วยการลดการใช้จ่ายภาครัฐ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย
อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น คนยากจนมากขึ้น การเมืองไร้เสถียรภาพ เกิดปัญหาสังคมอย่างรุนแรง
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากตั้งแต่กลางทศวรรษ
1990 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพราะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน
เริ่มใช้สกุลเงินยูโรในปี 2001
ในช่วงปี
2000-07 รัฐบาลใช้เงินกู้จำนวนมหาศาล เศรษฐกิจเติบโตชั่วคราว จีดีพีเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ
4.5 อัตราว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 7 ในปี 2008 แต่พบว่าการเก็บภาษีไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน
ฐานะเศรษฐกิจของกลุ่มคนยากจนไม่ดีกว่าเดิมมากนัก
หนี้สินภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าเป็นต้นเหตุสำคัญพาประเทศสู่วิกฤต
ปัญหาคอร์รัปชันของกรีซ :
มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
ประการแรก
ต้นเหตุจากนักการเมือง ชนชั้นปกครอง ข้าราชการ
แม้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่อยู่ในยุโรป
กรีซเป็นอีกประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุดในกลุ่ม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
(Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ที่มาของปัญหาเกี่ยวข้องกับการบริหารของรัฐบาลโดยตรง
ในระดับพรรคการเมือง นายทุนเป็นผู้สนับสนุนเงินหาเสียง เป็นผู้มีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง
ประชาชนกว่าร้อยละ 80 เชื่อว่ารัฐบาลบริหารโดยคนไม่กี่กลุ่มเพื่อประโยชน์ของพวกเขา
ส่วนในระบบราชการ เป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้วที่ข้าราชการจำนวนมากไม่โปร่งใส
มักจะเรียกร้องสินบน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่ขาดกลไกตรวจสอบมักเกิดการทุจริตเสมอ
เจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทเอกชนมักมีผลประโยชน์ทับซ้อน งบประมาณแผ่นดินรั่วไหล
รัฐบาลปล่อยปละละเลยไม่แก้ไขจริงจัง
ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นระบบราชการ
เชื่อว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุความทุกข์ยากทั้งสิ้นของพวกเขา
ประการที่
2 เอกชน ประชาชนเลี่ยงภาษี
การคอร์รัปชันไม่เพียงระบาดในภาครัฐเท่านั้น ในส่วนของประชาชนและธุรกิจเอกชนพยายามหลบเลี่ยงภาษี
กฎหมายภาษีที่ซับซ้อนและขั้นตอนราชการที่ยุ่งยากเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเลี่ยงภาษี
นับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มาตรการรัดเข็มขัดทำให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้น รัฐบาลปฏิรูประบบภาษีเพื่อป้องกันคนเลี่ยงภาษี
แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาคนรวยเลี่ยงภาษี กลายเป็นว่าภาระภาษีตกแก่คนชั้นกลาง
มีข้อมูลชี้ว่าประชาชนจำนวนมากเอือมระอากับการเสียภาษี
เพราะเชื่อว่าเงินที่ตนต้องจ่ายเป็นภาษีถูกคอร์รัปชั่นด้วยระบบกลไกรัฐ
หรือสูญเงินไปกับโครงการที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ชาวกรีกอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าการหนีภาษีเป็นเรื่องปกติ
การหลบเลี่ยงภาษีเป็นค่านิยมที่ชาวบ้านเห็นว่าทำได้
ผลคือผู้เสียภาษีตามกฎหมายกลายเป็นพวกที่ต้องแบกรับภาระ
เกิดความรู้สึกว่าพวกตนที่ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือเลี่ยงกฎหมายไม่ได้เป็นฝ่ายเสียเปรียบ
การเพิ่มภาษีจะยิ่งกระตุ้นให้คนเลี่ยงภาษี
ตรงกันข้ามหากรัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถผ่อนคลายการมาตรการรัฐเข็มขัดได้โดยปริยาย
การแก้ไขปัญหา :
จากปัญหาคอร์รัปชันและอื่นๆ
รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไข ดังนี้
ประการแรก
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
สิ่งที่รัฐบาลกรีกดำเนินอยู่ขณะนี้คือ
ใช้มาตรการรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่ายภาครัฐ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางส่วน
เพื่อแลกกับความช่วยเหลือจากทรอยกา การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น
แต่ไม่ใช่การแก้รากปัญหา
เศรษฐกิจกรีซถดถอยต่อเนื่องมากกว่า
5 ปีแล้วและยังไม่เห็นทางออก ผลลัพธ์คือกรีซในปัจจุบันเป็นหนี้อียูกับไอเอ็มเอฟราว
240,000 ล้านยูโร ภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ
ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นอีก กลายเป็นวงจรปัญหาที่ไม่รู้จบ อัตราคนว่างงานอยู่ที่ร้อยละ
25.5 ในจำนวนนี้เป็นคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 25-35 ปีราวร้อยละ 50.6
สภาพที่ผ่านมาตรการรัดเข็มขัดมาแล้วหลายปี ประชาชนยากลำบากต่อเนื่อง ทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าจำต้องหาทางออกใหม่
ส่งผลดีต่อพรรค Syriza ที่ชูประเด็นระงับมาตรการรัดเข็มขัด
Alexis Tsipras หัวหน้าพรรค
Syriza ชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวกรีกจะ
“ยุติระบอบที่ผลักประเทศกรีซสู่ความยากจน การว่างงาน ความโศกเศร้าและสิ้นหวัง”
พร้อมจะขึ้นเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ เพิ่มการจ้างงาน และระงับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ John
Milios หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจกล่าวทำนองว่าพรรคจะไม่ดำเนินนโยบายขาดดุล
แต่คนรวยจะต้องเสียภาษีมากขึ้น ชี้ว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดที่
‘ทรอยกา’ ยัดเยียดให้
ประการที่
2 การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลกรีซดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันด้วยการให้รัฐมนตรีกับหน่วยงานรัฐประกาศการตัดสินใจต่างๆ
บนเว็บไซต์ การตัดสินใจใดๆ จะมีผลก็ต่อเมื่อได้โพสต์ข้อความบนฐานข้อมูลสาธารณะก่อน
หน่วยงานท้องถิ่นต้องกระทำเช่นเดียวกันนี้
เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายด้วยความโปร่งใส รับฟังความคิดเห็นประชาชน
นโยบายสำคัญประการต่อมาคือจัดตั้งหน่วยปราบปราบการกระทำผิดทางการเงิน
ตรวจสอบคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี่ยงภาษี รัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทางอาญาจะถูกจำกัดการเดินทาง
หากคดีถึงที่สุดจะต้องได้รับโทษมากกว่าประชาชนทั่วไป รวมทั้งจะต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย
ในภาพรวม นักวิชาการหลายคนพูดตรงกันว่าการคอร์รัปชันอย่างรุนแรงอยู่คู่สังคมกรีกมานานแล้ว
กรีซเป็นสังคมที่เห็นแก่พวกพ้อง
ความเป็นประชาธิปไตยไม่สูงเท่าประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก รากปัญหาจึงอยู่ที่ค่านิยม
บางคนอาจมองชาวกรีกว่าเป็นพวกตะวันตก แต่ความจริงแล้วแม้หน้าตาสีผิวคล้ายกัน
เป็นพวกยุโรปโดยแท้ แต่ในเชิงค่านิยมประชาธิปไตยยังห่างไกลจากหลายประเทศ
ประการที่ 3 ปฏิรูปการเมือง
สิ่งที่ประชาชนต้องการคือผู้นำประเทศ นักการเมืองที่มีคุณธรรม
ทำงานมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อบทบาทของตน ทุกวันนี้ประชาชนผิดหวังต่อนักการเมือง
พรรคการเมืองกับนักการเมืองเต็มด้วยการทุจริต ไม่โปร่งใส บางคนเชื่อว่าผู้นำที่สามารถรวบรวมคนในสังคมให้ดำรงในความยุติธรรม
มีความเชื่อและความหวังใจเท่านั้นจึงจะสามารถฟื้นฟูประเทศ
ไม่น่าเชื่อว่าในรอบ 167 ปีประเทศนี้มีรัฐบาลถึง 200 ชุด ในจำนวนนี้มีเพียง 8 รัฐบาลที่มีอายุงาน 3-4 ปี การเมืองกรีกจึงล้มลุกคลุกคลานมาเป็นร้อยปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะมั่นคงในเวลาอันสั้น ถ้ายึดว่าเป้าหมายการปกครองคือระบอบประชาธิปไตยอันแข็งแกร่ง เท่ากับว่ายังห่างไกลจากเป้าหมาย ยังไม่เห็นวี่แวว
ไม่น่าเชื่อว่าในรอบ 167 ปีประเทศนี้มีรัฐบาลถึง 200 ชุด ในจำนวนนี้มีเพียง 8 รัฐบาลที่มีอายุงาน 3-4 ปี การเมืองกรีกจึงล้มลุกคลุกคลานมาเป็นร้อยปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะมั่นคงในเวลาอันสั้น ถ้ายึดว่าเป้าหมายการปกครองคือระบอบประชาธิปไตยอันแข็งแกร่ง เท่ากับว่ายังห่างไกลจากเป้าหมาย ยังไม่เห็นวี่แวว
วิเคราะห์องค์กรวม และสรุป :
เรื่องสำคัญที่สังคมต้องตระหนักคือ
การคอร์รัปชันสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจ สภาพการเมืองและสังคม ประเทศที่มีคอร์รัปชันสูง
เศรษฐกิจจะอ่อนแอ ง่ายต่อการเกิดวิกฤต การเมืองไร้เสถียรภาพ เต็มด้วยการชุมนุมประท้วง
เกิดปัญหาสังคมมากมาย การแก้ปัญหาใดๆ จึงต้องมองทั้งระบบ แก้ทั้งระบบ
ไม่อาจแก้เศรษฐกิจ โดยไม่สนใจเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน การเมือง สังคมที่ฉ้อฉล
ความจริงที่น่าเศร้าคือ ตั้งแต่เศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤต
และเริ่มเข้ารับการช่วยเหลือจากทรอยกาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 จวบจนบัดนี้ผ่านมาแล้วกว่า
4 ปี ปรากฏว่าสภาพการคอร์รัปชันไม่ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก ทั้งๆ
ที่รัฐบาลได้รับแรงกดดันจากทรอยกา เศรษฐกิจสังคมอยู่ในภาวะวิกฤต
กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า
ผลการสำรวจเมื่อปี
2012 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กรีซคือประเทศที่คอร์รัปชันสูงสุดในกลุ่มสหภาพยุโรป
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชันซึ่งเป็นต้นเหตุพาประเทศสู่วิกฤต
เมื่อเศรษฐกิจถึงจุดย่ำแย่ คอร์รัปชันจะไม่ลดลง ทั้งๆ
ที่รัฐบาลยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ ประกาศว่าจะแก้ปัญหาแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถทำเต็มแรง
ได้ผลน้อยกว่าที่คาดหวัง
คงไม่ผิดนักถ้าจะสรุปว่าการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่
25 นี้ เป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย คำนึงถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมากกว่าการวางรากฐานระยะยาว
การหลบเลี่ยงภาษีที่ยังแก้ไม่ได้ ผลลัพธ์คือคนจำนวนหนึ่งหันไปสนับสนุนแนวทางสุดโต่ง
พรรคฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนแนวทางสังคมนิยมอย่าง Syriza
กลายเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากผลโพลล์ต่างๆ
และความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เลือกตั้งครั้งนี้พรรค Syriza จะชนะการเลือกตั้ง เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของประเทศกรีซ ผู้มีอารยธรรมเก่าแก่ของชนชาติกรีก
ที่ตำรารัฐศาสตร์ตะวันตกยกย่องว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตย
หากพรรค
Syriza ชนะการเลือกตั้งจริง น่าติดตามว่าโฉมหน้าเศรษฐกิจการเมืองต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
ที่สุดแล้วกรีซจะถอนตัวออกจากยูโรโซนหรือไม่ จะกระทบต่อเศรษฐกิจอียูมากน้อยเพียงใด
และที่สำคัญคือรัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้หรือไม่ รอโลกจะได้รับคำตอบในที่สุด
ที่สุดแล้วคอร์รัปชันคือตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตย
อารยธรรม เพราะประชาชนไม่ได้เลือกผู้แทนที่ตั้งใจปกครองประเทศด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
นักการเมืองมุ่งเข้าสู่อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบแก่ตนเองและพวกพ้อง นโยบายหาเสียงสำคัญๆ
เป็นเพียงโฆษณาเหมือนโฆษณาขายสินค้า
อารยธรรมกรีกขึ้นชื่อว่าเป็นอารยธรรมเก่าแก่
ต้นแบบประชาธิปไตยตะวันตก มาบัดนี้กำลังถดถอยอย่างรุนแรง สังคมกำลังทำลายตัวเอง
George Papandreu ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
(2009-11) กล่าวยอมรับว่า “เศรษฐกิจกรีกเหมือนเรือที่กำลังจม”
“ประเทศกรีซเสื่อมโทรมเพราะคอร์รัปชัน ...
เป็นต้นเหตุสำคัญของความฉิบหายทางเศรษฐกิจ”
25 มกราคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6654 วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2078255)
-------------------------------
ประชาสัมพันธ์ :
จองโรงแรมที่พักกับ Booking.com
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ชาวยุโรปร้อยละ 76
คิดว่าประเทศของตนมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง วิกฤตการเงินเมื่อปี 2008
สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปเห็นว่าหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติสมาชิกทั้งหมด
และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จำต้องแก้ไขควบคู่คือปัญหาคอร์รัปชันที่ต้องดำเนินควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นทั้งหมด
1. Berend, Ivan. (2013). Europe in
Crisis: Bolt from the Blue? New York: Routledge.
2. Böcking, David. (2013, July 18). New Public Sector Cuts: Austerity
as Usual in Greek Parliament. Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/greek-parliament-agrees-on-more-public-sector-austerity-and-job-cuts-a-911795.html
3. CORRUPTION BY COUNTRY / TERRITORY- Greece. (2013, July
19). Transparency Internationa. Retrieved from http://www.transparency.org/country#GRC
4. Greek austerity has caused more than 500 male suicides –
report. (2014, December 18). International Federation for Human Rights.
Retrieved from https://www.fidh.org/International-Federation-for-Human-Rights/europe/greece/16675-greece-report-unveils-human-rights-violations-stemming-from-austerity
5. Greek elections: Will anti-austerity party Syriza win?
(2015, January 22). BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-30906153
6. Ikonomopoulos, Harris. (2011). Greek Political System,
Leadership and Corruption. Athens Security Forum. Retrieved from http://www.athens-securityforum.org/2011/11/greek-political-system-leadership-and.html
7. ONLINE INITIATIVES COLLECT REPORTS OF BRIBERY IN GREECE.
(2013, July 10). European Research
Centre for Anti-Corruption and State-Building. Retrieved from http://www.againstcorruption.eu/articles/online-initiatives-collect-reports-of-bribery-in-greece/
8. The new spectre haunting Europe: Greece's Syriza. (2014,
December 31). France 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20141230-greece-syriza-europe-austerity-spectre-tsipras-troika/
---------------------------------