ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

การทุจริตคอร์รัปชันและอีโบลา (Ebola) ภัยร้ายต่อไลบีเรียและโลก

เมื่อการทุจริตเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น ผลคือรัฐบาลไลบีเรียขาดแคลนงบประมาณ โรงพยาบาลมีน้อยและไม่พร้อมรับมือโรคระบาด เป็นเหตุให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลย

            เมื่อย้อนดูการระบาดครั้งก่อนๆ ตลอดเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมาเชื้ออีโบลา (Ebola) ได้ระบาดเป็นครั้งคราวเสมอๆ ในทวีปแอฟริกา แต่ที่สุดแล้วการแพร่ระบาดจะยุติไปเอง เมื่อทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือช่วยกันต้านการแพร่ระบาด แต่ในกรณีล่าสุด การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงที่ประเทศไลบีเรียกลายเป็นภัยคุกคามโลก และมีความสัมพันธ์กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศนี้
            บทความนี้จะอธิบายผลของคอร์รัปชันต่อการแพร่ระบาด ดังนี้
ปัญหาการทุจริต :
            ไลบีเรียเป็นอีกประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง ยาวนาน ในปี 2013 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ให้คะแนนความโปร่งใสแก่ไลบีเรียหรือ CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 อยู่ในลำดับที่ 83 จากทั้งหมด 175 ประเทศ (ประเทศไทยได้คะแนน 35 อยู่ลำดับที่ 102 คะแนนต่ำหมายถึงคอร์รัปชันรุนแรง)
            ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า The Centre for Transparency and Accountability in Liberia ทำงานโดยตรงกับประเทศไลบีเรีย ชี้ว่าคอร์รัปชันพบได้ในทุกที่ของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน การทุจริตเกิดในการเมืองการปกครองทุกระดับ เกี่ยวข้องกับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ข้าราชการพลเรือน กิจการธุรกิจใหญ่น้อย และพบในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน

            รูปแบบการคอร์รัปชันของไลบีเรียไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น ข้าราชการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน รับใต้โต๊ะเมื่อประชาชนมาขอรับบริการ การต่อต้านคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องยากเพราะประชาชนให้การยอมรับ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต รัฐบาลไลบีเรียยอมรับว่าการคอร์รัปชัน “ทำเป็นระบบและแพร่ระบาด” กลายเป็นต้นเหตุแห่งความยากจนและสร้างปัญหาเศรษฐกิจสังคม จำต้องหามาตรการป้องกันและปราบปรามใหม่ที่ได้ผล มาดามเอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ (Ellen Johnson-Sirleaf) ประธานาธิบดีหญิงประกาศในพิธีรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 ว่าคอร์รัปชัน “เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง” ของประเทศ

            นาย Alexander Holmgren ได้ศึกษาและสรุปผลกระทบของการคอร์รัปชันต่อไลบีเรียว่า ในด้านการเมือง การคอร์รัปชันเป็นต้นเหตุบ่อนทำลายการเมืองแบบประชาธิปไตย สถาบันการเมืองต่างๆ แปดเปื้อนด้วยการทุจริต
            ในด้านเศรษฐกิจ การคอร์รัปชันทำให้นักธุรกิจไม่คิดประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ไม่หวังลงทุนเพิ่มกำไรด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ระบบเศรษฐกิจจึงอ่อนแอ ขาดการจ้างงาน รัฐบาลขาดรายรับเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ อีกทั้งงบประมาณส่วนหนึ่งก็ละลายหายไปกับการคอร์รัปชัน คนโกงไม่กี่คนกลายเป็นเศรษฐี ในขณะที่โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ของสหประชาชาติประเมินว่าชาวไลบีเรียร้อยละ 64 เป็นคนยากจน ขาดการศึกษา ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ขาดโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก
            เหตุผลที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ธรรมาภิบาลอ่อนแอกับการคอร์รัปชัน และเป็นเช่นหลายประเทศ กลุ่มคนยากคนจนคือผู้ที่รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเมื่อรัฐมีรายรับน้อย รัฐจะเน้นลงทุนในกิจกรรมที่สร้างรายได้มากที่สุดในเวลาสั้นที่สุด ไม่สนใจลงทุนในด้านสาธารณสุข การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องลงทุนมากและรอเวลานานกว่าจะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับคืน

            การคอร์รัปชันที่ดาษดื่นทำให้หลายคนมุ่งกอบโกยผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย สังคมแตกแยก เพราะไม่มีใครไว้วางใจใคร ประชาชนเกิดค่านิยมยอมรับข้าราชการที่คอร์รัปชัน ด้วยความคิดที่ว่าพวกเขามีรายได้น้อย คนทุจริตส่วนใหญ่ไม่ได้รับโทษ
            ความจริงแล้วไลบีเรียเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า โดยเฉพาะ ทองคำ แร่เหล็กและน้ำมัน รัฐน่าจะสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ น่าเสียดายที่การคอร์รัปชันเป็นเหตุทำให้รายได้จากทรัพยากรตกอยู่ในมือของคนโกงเสียเป็นส่วนใหญ่ รัฐได้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควร ความมั่งคั่งของประเทศจึงตกอยู่ในมือคนโกงไม่กี่คนเท่านั้น หน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Moore Stephens ได้ตรวจสอบการให้สัมปทาน พบว่านับจากปี 2009 รัฐให้สัมปทานทั้งหมด 68 ครั้ง มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ทำอย่างถูกต้อง รัฐบาลยอมรับความจริง จึงสั่งระงับบางสัญญา และร่างกฎหมายการให้สัมปทานเสียใหม่

            เมื่อถามว่าหน่วยงานใดคอร์รัปชันมากที่สุด คำตอบคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย นั่นคือ ตำรวจกับศาล น่าเสียดายที่หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบการต่อต้านคอร์รัปชันกลายผู้ทุจริตเสียเอง เป็นสถาบันที่ประชาชนขาดความไว้วางใจมากที่สุด ความยุติธรรมกลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินซื้อ บางครั้งเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยกลายเป็นโจรเสียเอง บางคนถึงกับใช้การเฆี่ยนตี ข่มขู่ คุกคามเพื่อรีดไถเงินจากประชาชน
            การทุจริตลามไปถึงการฉ้อโกงเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ จนองค์กรระหว่างประเทศ ประเทศผู้บริจาคต่างปวดหัวกับเรื่องดังกล่าวและพยายามหาทางป้องกัน ด้วยมาตรการที่เข้มงวดเป็นพิเศษ เช่น ต้องสุ่มตรวจทุกจุด ตรวจสอบการใช้เงิน ตรวจสอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งต้องเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลไลบีเรียต่อต้านคอร์รัปชัน

            การทุจริตที่ยังพบเห็นดาษดื่น ความไม่เชื่อถือในรัฐบาล การแก้ปัญหาคอร์รัปชันจึงเป็นประเด็นท้าทายอย่างยิ่ง ภายใต้มุมมองคอร์รัปชัน ความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชันคือกุญแจสำคัญคือสู่การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสุขภาพ

คอร์รัปชันกับอีโบลา :
            การแพร่ระบาดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ในขณะนี้ เป็นตัวอย่างหลักฐานบ่งชี้ผลประทบจากการคอร์รัปชัน เมื่อการทุจริตเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น ผลคือรัฐบาลไลบีเรียขาดแคลนงบประมาณ โรงพยาบาลมีน้อยและไม่พร้อมรับมือโรคระบาด เป็นเหตุให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลย (ข้อเท็จจริงคือ ผู้ติดเชื้อมีโอกาสหายเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการรักษาประคับประคองตามอาการ ดังเช่นคนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก) อัตราเสียชีวิตของไลบีเรียจึงสูงถึงร้อยละ 58 เป็นอัตราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ผู้ติดเชื้อหลายคนจบชีวิตในสภาพกลายเป็นซากศพบนท้องถนน
            เมื่อรัฐขาดแคลนงบประมาณสกัดกั้นการแพร่ระบาด การระบาดที่เริ่มต้นจากผู้ติดเชื้อไม่กี่รายจึงกลายเป็นการแพร่ระบาดที่กระจายไปทั่วประเทศ และส่งออกเชื้อโรคแก่ประเทศอื่นๆ ด้วย สถานการณ์จึงยิ่งเลวร้าย ยิ่งส่งผลกระทบต่อสังคมประเทศชาติในทุกด้าน การสกัดกั้นการแพร่ระบาดต้องใช้ความพยายามและงบประมาณมากกว่าเดิม จำต้องร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับความเมตตาของต่างชาติ
            รัฐบาลสหรัฐประเมินว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อหลักพัน และกำลังขยายตัวเป็นหลักหมื่น หากไม่สามารถสกัดได้ทันท่วงที ตัวเลขจะสูงกว่านี้ เศรษฐกิจไลบีเรียอาจล่มสลาย ประชาชนแตกตื่น

            นายแอนดรู ฮอสกินส์ (Andrew Hoskins) ผู้อำนวยการประจำประเทศไลบีเรียขององค์การบรรเทาสาธารณภัยนานาชาติที่ชื่อว่า Medical Teams International กล่าวถึงผลกระทบจากการคอร์รัปชันต่อระบบสาธารณสุขว่า เหตุผลหนึ่งที่การแพร่ระบาดในไลบีเรียวิกฤตกว่าประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากการคอร์รัปชันทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจและไม่เชื่อใจรัฐบาล ในการระบาดช่วงแรกนั้น ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรคอีโบลา แต่เป็นแผนของรัฐบาลเพื่อเรียกร้องขอเงินบริจาคจากนานาชาติ เพื่อจะได้ฮุบเงินส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าตัวเอง เมื่อประชาชนไม่ยอมให้ความร่วมมือ เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการควานหาตัวผู้ติดเชื้อและติดตามคนเหล่านี้ เป็นสาเหตุว่าทำไมมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐจึงไม่ค่อยได้ผล
            บทสรุปของนายฮอสกินส์ให้ข้อคิดที่สำคัญว่า ผลเสียจากการคอร์รัปชันของไลบีเรีย ไม่ใช่อยู่ที่การขาดแคลนโรงพยาบาล ขาดแคลนเครื่องมือ เวชภัณฑ์ต่างๆ (ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง) แต่อยู่ที่ประชาชนไม่เชื่อถือรัฐบาลของตนเอง ไม่คิดจะให้ความร่วมมือ การคอร์รัปชันจึงเป็นต้นเหตุของสังคมที่ง่อนแง่น เป็นอีกสัญญาณส่อว่ามีลักษณะของการเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State)

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ลักษณะของโรคอีโบลาคือการแพร่ระบาดเป็นครั้งคราว สร้างความเสียหายหนักในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ส่วนการคอร์รัปชันเปรียบเสมือนโรคระบาดที่แพร่ระบาดทั่วประเทศอย่างเงียบๆ โดยผู้คนรู้ตัวแต่ไม่ค่อยตื่นตระหนก เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการคอร์รัปชันไปทั่ว และเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมประเทศชาติในทุกมิติ
            ทุกวันนี้เราสามารถยับยั้งโรคอีโบลาด้วยการแยกผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และให้การรักษาตามอาการ หากสามารถระงับการแพร่ระบาด โรคอีโบลาจะหายไปเอง ส่วนการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันต้องออกแรงมากกว่า ต้องใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อป้องปราม ปราบปราม เฝ้าระวัง สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนติดกับคอร์รัปชัน การต่อสู้กับคอร์รัปชันจึงยากกว่าการปราบอีโบลาหลายเท่า

            ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ ตราบใดที่การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด มะเร็งร้ายแห่งการคอร์รัปชันยังคงเหลืออยู่จำนวนมาก ไลบีเรียเหมือนประเทศที่ถูกสาป เป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่ประเทศซึ่งยากจน อ่อนแออยู่แล้วจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุ่งเรือง และคงไม่มีใครอยากจะอยู่ประเทศเช่นว่านี้ เป็นข้อเตือนใจประเทศอื่นๆ ที่คนในสังคมจะร่วมมือร่วมใจต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนจะลุกลามจนยากจะแก้ไข เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากเพียงพอแล้ว

            ในกรณีไลบีเรีย นาย Holmgren เสนอแนวทางแก้ไขว่าต้องให้สถาบันศาลเป็นอิสระจากอำนาจฝ่ายบริหาร เช่นเดียวกับหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันที่ต้องมีความเป็นอิสระมากกว่าที่เป็นอยู่ ภาคเอกชนจำต้องมีส่วนให้ความร่วมมือด้วยการเปิดเผยข้อมูลสัญญาสัมปทานต่างๆ ที่มักเต็มด้วยความไม่ชอบมาพากล
            และสังคมต้องส่งเสียงว่าการทุจริตเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตโดยใคร ในระดับใด เพื่อที่สุดแล้วมุมมองของทุกคนในสังคมจะเปลี่ยนใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชัน ไม่ยินดีจ่ายเงินใต้โต๊ะและไม่ขอมีส่วนร่วมกับการทุจริตอีกต่อไป
21 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6529 วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2557, http://www.ryt9.com/s/tpd/1990263)
---------------------------------
ประชาสัมพันธ์ :
จองโรงแรมที่พักกับ Booking.com
728*90
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาทำให้สังคมโลกตีตราว่าประเทศที่มีการแพร่ระบาดกลายเป็นประเทศที่อันตรายต่อชีวิตมากที่สุด หลายคนกลัวแม้กระทั่งไม่กล้าซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านี้ ตราบใดที่การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ประเทศเหล่านี้เหมือนประเทศที่ถูกคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนจากนานาชาติ เป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่ประเทศซึ่งยากจนอยู่แล้วจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุ่งเรือง

สังคมโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายอย่าง คอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล จนถึงประเทศ ประชาคมโลก ประวัติศาสตร์หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชี้ชัดให้เห็นถึงโทษ ภัยคุกคามนี้ที่บิดเบือนการปกครองให้ประโยชน์ตกแก่ผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาระเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย

ชาวยุโรปร้อยละ 76 คิดว่าประเทศของตนมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง วิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปเห็นว่าหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติสมาชิกทั้งหมด และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จำต้องแก้ไขควบคู่คือปัญหาคอร์รัปชันที่ต้องดำเนินควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นทั้งหมด

บรรณานุกรม :
1. Breen, Leah. (2014, August 29). Fighting Ebola, Liberia’s ‘Invisible Rebel’. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/blogs/monkey-cage/wp/2014/08/29/fighting-ebola-liberias-invisible-rebel/
2. Cicco, Camillo Di. (2010, March 19). Ebola. Science 2.0. Retrieved from http://www.science20.com/scientist/ebola-66006
3. CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2013. (2014). Transparency International. Retrieved from http://cpi.transparency.org/cpi2013/results/
4. DFID’s Anti-Corruption Strategy for Sierra Leone and Liberia. (2013, January). UK Department for International Development. Retrieved from https://www.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/213913/anti-corruption-strategy-sl-lr.pdf
5. Ebola situation in Liberia: non-conventional interventions needed. (2014, September 8). WHO Media centre. Retrieved from http://www.who.int/mediacentre/news/ebola/8-september-2014/en/
6. Holmgren, Alexander. (2013, June 17). Liberia’s public enemy no. 1: Fighting corruption to rebuild a nation. Consultancy Africa Intelligence . Retrieved from http://www.consultancyafrica.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1308:liberias-public-enemy-no-1-fighting-corruption-to-rebuild-a-nation&catid=57:africa-watch-discussion-papers&Itemid=263
7. Jerving, Sara. (2014, September 16). Why Liberians Thought Ebola Was a Government Scam to Attract Western Aid. The Nation. Retrieved from http://www.thenation.com/article/181618/why-liberians-thought-ebola-was-government-scam-attract-western-aid
8. Liberia: Corruption Is "Public Enemy Number One". (2013, December 20). AllAfrica. Retrieved from http://allafrica.com/stories/201312201478.html
9. Remarks by the President on the Ebola Outbreak. (2014, September 16). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/16/remarks-president-ebola-outbreak
---------------------------

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ

บัตรสุขภาพ สบายกาย สบายใจ
ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 แพ็กเกจตรวจสุขภาพโดยแพทย์ ปรึกษาแพทย์ ส่วนลดค่ายา

ประกันภัยเบาหวาน Protect

ประกันภัยเบาหวาน Protect
สนใจคลิก

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์กับ 724 Market
สนใจคลิก

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ประกันทุกชั้น ซื้อได้ทั่วประเทศ
ซื้อหรือสอบถามคลิกที่รูป